ทำไมราคาน้ำมันแพงขึ้น? สาเหตุเพราะอะไร คนไทยเติมน้ำมันแพง
เกิดอะไรขึ้น? คนไทยเติมน้ำมันแพง.. เดือนเดียวปรับราคาขึ้น 6 ครั้ง ราคาน้ำมันแพงขึ้นจากต้นปีกว่า 7 บาทต่อลิตร
ใครที่ใช้รถช่วงนี้ คงได้รับผลกระทบกันพอสมควร จากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเดือนกันยายน 2564 มีการปรับราคาขายปลีกน้ำมันไปแล้วถึง 6 ครั้ง! เอาเป็นว่า FinSpace จะพาไปดูกันว่าต้นสายปลายเหตุของการที่ราคาน้ำมันในไทยพุ่งสูงขึ้นแบบนี้เป็นเพราะอะไร
.
1. ตั้งแต่ต้นปีราคาน้ำมันในไทย แพงขึ้นแค่ไหน?
สำรวจราคาขายปลีกน้ำมัน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เปรียบเทียบกับเดือนตุลาคมนี้ พบว่าราคาเฉลี่ยปรับขึ้นประมาณ 7-8 บาทต่อลิตร เช่น กลุ่มน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้น 7.1 บาทต่อลิตร และกลุ่ม Gasohol 95, Gasohol 91, E20, E85 ปรับเพิ่มขึ้น 7.9 บาทต่อลิตร
.
2. ในรอบเดือนกันยายน ปรับราคาน้ำมันขึ้น 6 ครั้ง
จุดพีคสุดคือเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อมีการปรับราคาขายปลีกน้ำมัน 6 ครั้ง ได้แก่
– วันที่ 4 กันยายน ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล +30 สตางค์ต่อลิตร
– วันที่ 15 กันยายน ปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน/แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด +30 สตางค์ต่อลิตร, E85 ปรับขึ้น +15 สตางค์ต่อลิตร และดีเซล ปรับขึ้น +50 สตางค์ต่อลิตร
– วันที่ 18 กันยายน ปรับขึ้นราคาขายปลีกทุกชนิด +50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้นดีเซล และ E85 ปรับขึ้น +30 สตางค์ต่อลิตร
– วันที่ 24 กันยายน ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล +40 สตางค์ต่อลิตร, แก๊สโซฮอล์ +30 สตางค์ต่อลิตร และ E85 ปรับขึ้น +15 สตางค์ต่อลิตร
– วันที่ 28 กันยายน ปรับขึ้นราคาขายปลีกทุกชนิด +40 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น E85 ปรับขึ้น 20 สตางค์ต่อลิตร
– วันที่ 30 กันยายน ปรับขึ้นกลุ่มแก๊สโซฮอล์ทุกชนิด +40 สตางค์ต่อลิตร, กลุ่มดีเซลทุกชนิดปรับขึ้น +60 สตางค์ต่อลิตร และ E85 ปรับขึ้น +20 สตางค์ต่อลิตร
.
3. เกิดอะไรขึ้นกับราคาน้ำมันในปัจจุบัน
สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าราคาขายปลีกน้ำมันในไทยกลับมาแพงสุดในรอบหลายปี สาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่กำลังเป็นขาขึ้น หลังเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจน และยอดใช้น้ำมันเริ่มกลับมาเป็นปกติแล้ว
รวมถึงล่าสุดกลุ่ม OPEC มีมติที่จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ก็เป็นอีกปัจจัยดันราคาน้ำมันสูงขึ้น
ปัจจุบันราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบวิ่งอยู่ที่ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา
.
4. รัฐบาลเตรียมมาตรการดูแลราคาน้ำมัน
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยเบื้องต้น จะใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ไม่ให้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร ผ่านมาตรการ ดังนี้
– ลดการจัดเก็บเข้ากองทุนของน้ำมันดีเซล B7 จาก 1 บาทต่อลิตร เหลือ 0.01 บาทต่อลิตร
– ลดการผสมไบโอดีเซล จาก B10 และ B7 ให้เหลือ B6
– ลดค่าการตลาดน้ำมันดีเซล B10 และ B7 จากเฉลี่ย 1.80 บาทต่อลิตร เหลือ 1.40 บาทต่อลิตร
.
5. รู้โครงสร้างราคาน้ำมันไทย เติมน้ำมัน 1 ลิตร มีค่าอะไรบ้าง?
จะเห็นว่าปัจจัยหลักที่กำลังราคาน้ำมันมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
แต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลด้วย เพราะรัฐบาลมีเครื่องมือที่เข้าไปควบคุมราคาขายปลีกน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป คำถามคือกลไกที่ว่านั้นทำงานยังไง สิ่งที่จะตอบเราได้ในเรื่องนี้ก็คือการรู้โครงสร้างราคาน้ำมัน
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าราคาน้ำมันที่เราเติมกันหน้าปั๊ม ไม่ใช่ราคาหน้าโรงกลั่น แต่เป็นราคาที่ผ่านผู้เกี่ยวข้องมากมาย ได้แก่ โรงกลั่น, ผู้ค้าน้ำมันขายส่ง, ปั๊มน้ำมัน และรัฐบาลที่เก็บภาษี ทำให้ราคาน้ำมัน 1 ลิตร ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้
1.) ราคาหน้าโรงกลั่น คือ รายได้ของผู้ประกอบการโรงกลั่น ซึ่งบวกมาจากต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าการกลั่น ค่าขนส่ง และต้นทุนอื่นๆ
2.) ภาษี คือ ส่วนที่รัฐบาลเรียกเก็บเป็นรายได้ไปพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต, ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
3.) เงินกองทุนน้ำมัน คือ กลไกสำคัญในการรักษาสมดุลราคาน้ำมันในประเทศ โดยจะมีการเรียกเก็บเงินส่วนนึงเข้ากองทุน และเมื่อใดที่ราคาน้ำมันแพงจนเป็นภาระของประชาชน กองทุนน้ำมันจะควักเงินส่วนนี้เข้าไปอุดหนุนนั่นเอง
4.) ค่าการตลาด คือ กำไรของปั๊มน้ำมัน ซึ่งก็จะมีกลไกควบคุมจากรัฐบาลเช่นกัน เพื่อไม่ให้ผู้ค้ารายใดรายนึงปรับค่าการตลาดสูงจนเกินไป
ติดตาม FinSpace เพิ่มเติมได้ที่
Website: http://bit.ly/2lxvlhY
LINE: http://bit.ly/2qL8S48
Tiktok: https://bit.ly/3AOhzcE