FinSpace

10 รูปแบบแท่งเทียนที่ควรค่าแก่การจดจำ

10-รูปแบบแท่งเทียนที่ควรค่าแก่การจดจำ

วันนี้จะมาแนะนำให้รู้จักกับกราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) ซึ่งเป็นรูปแบบกราฟที่ได้รับความนิยม และถูกใช้งานมากที่สุด

กราฟแท่งเทียนจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับรูปของแท่งเทียนไขที่เราคุ้นเคยกันดี โดยกราฟราคาที่เป็นรูปแท่งเทียนแท่งหนึ่งจะมีส่วนประกอบสำคัญอยู่ 2 ส่วน คือ

Advertisements
  1. ส่วนที่มีลักษณะเป็นแท่งหนาอาจจะเป็นแท่งโปร่ง(บางโปรแกรมอาจแสดงเป็นแท่งเทียนสีเขียวแทนแท่งเทียนแบบโปร่ง) หรือแท่งทึบ(บางโปรแกรมแสดงเป็นแท่งเทียนสีแดงแทนแท่งเทียนทึบ) เราจะเรียกส่วนนี้ว่าลำตัวของแท่งเทียน (Body)
  2. ส่วนที่เป็นเส้นบางเราจะเรียกว่าไส้เทียน (Shadow)

วิธีการวาดรูปแท่งเทียน

วิธีการวาดรูปแท่งเทียน

การวาดรูปแท่งเทียนขึ้นมาหนึ่งแท่ง จะใช้รายละเอียดของการเคลื่อนไหวของราคาทั้งหมด 4 อย่าง ได้แก่ (1) ราคาเปิด (2) ราคาสูงสุด (3) ราคาต่ำสุด และ (4) ราคาปิด

ส่วนที่เป็นลำตัวของแท่งเทียนจะใช้ข้อมูลราคาเปิดและราคาปิดในการวาด ส่วนที่เป็นไส้เทียนจะใช้ข้อมูลราคาสูงสุดและราคาต่ำสุดในการวาด โดยถ้าราคาปิดสูงกว่าราคาเปิดตัวแท่งเทียนจะเป็นแท่งโปร่ง (บางโปรแกรมแสดงเป็นแท่งเทียนสีเขียวแทนแท่งโปร่ง) หากราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิดตัวแท่งเทียนจะเป็นแท่งทึบ (บางโปรแกรมแสดงเป็นแท่งเทียนสีแดงแทนแท่งเทียนทึบ) ถ้าหากราคาปิดกับราคาเปิดเป็นราคาเดียวกันเราจะไม่เห็นตัวแท่งเทียน


เวลานำรูปแท่งเทียนไปใช้งาน

ในทางปฏิบัติการใช้งานกราฟแท่งเทียนจะเป็นวิเคราะห์การย้อนกลับวิธีการวาดกราฟแท่งเทียน เพราะเมื่อเราเลือกใช้งานรูปกราฟประเภทแท่งเทียน โปรแกรมจะแสดงรูปแท่งเทียนให้เราเห็น โดยแท่งเทียน 1 แท่งจะแทนการเคลื่อนที่ของราคาในช่วง Time Frame ที่เรากำหนด

ในทางปฏิบัติรูปแท่งเทียน 1 แท่ง เราจะสามารถจินตนาการการเคลื่อนที่ของราคาได้คร่าว ๆ และสามารถสรุปได้ว่าในช่วงระยะเวลาของแท่งเทียน 1 แท่ง มีอารมณ์ของคนในตลาดเป็นอย่างไร และผลการต่อสู้ระหว่างแรงซื้อกับแรงขายเป็นอย่างไร

  • รูปแสดงตัวอย่างการแปลความหมายของรูปแท่งเทียน 1 แท่ง ที่ฝั่งซื้อมีแรงมากกว่า
รูปแท่งเทียน 1 แท่ง ที่ฝั่งซื้อมีแรงมากกว่า
  • รูปแสดงตัวอย่างการแปลความหมายของรูปแท่งเทียน 1 แท่ง ที่ฝั่งขายมีแรงมากกว่า
รูปแท่งเทียน 1 แท่ง ที่ฝั่งขายมีแรงมากกว่า
  • รูปแสดงตัวอย่างการแปลความหมายของรูปแท่งเทียน 1 แท่ง ที่ฝั่งซื้อและฝั่งขายมีแรงพอๆ กัน และการซื้อขายไม่ผันผวน เพราะอยู่ในกรอบราคาแคบๆ
รูปแท่งเทียน 1 แท่ง ที่ฝั่งซื้อและฝั่งขายมีแรงพอๆ กัน

ในตลาดหุ้นที่ราคามีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รูปของแท่งเทียนที่สามารถเกิดขึ้นจึงมีมากมายหลายรูปแบบ ถ้าจะให้จำรูปแบบของแท่งเทียนให้ครบทุกรูปแบบที่มี ผมเชื่อว่าเราคงจำได้ไม่หมดแน่ๆ


วันนี้ผมจะแนะนำรูปแท่งเทียน 10 แบบที่ควรค่าแก่การจดจำ และสามารถนำไปใช้ซื้อขายได้จริง

โดยสามารถแบ่งรูปแท่งเทียนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

  • รูปแบบที่เราใช้พิจารณาการกลับตัวจากขาลงเป็นขาขึ้น 5 รูปแบบ (ใช้เพื่อหาจังหวะเข้าซื้อหุ้น)
  • รูปแบบที่ใช้พิจารณาการกลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง 5 รูปแบบ (ใช้เพื่อหาจังหวะขายหุ้นทำกำไร)

กลุ่มที่ 1 รูปแบบที่เราใช้พิจารณาการกลับตัวของราคาจากขาลงเป็นขาขึ้น (Bullish Candlestick Patterns)

Bullish Candlestick Patterns
  1. Hammer
    เป็นแท่งเทียนที่มี Shadow ด้านล่างยาว และยาวกว่า Body มากกว่า 2 เท่า แสดงให้เห็นว่าหลังจากราคาเปิดของแท่งเทียนมีบางช่วงเวลาที่แรงขายเป็นฝั่งควบคุมการซื้อขายในตลาด จึงสามารถขายกดราคาให้ลดต่ำลงไปได้ แต่สุดท้ายมีแรงซื้อกลับเข้ามามากและเป็นฝั่งที่กลับมาควบคุมตลาดแทนฝั่งซื้อ และแรงซื้อมีแรงมากพอทำให้ราคาปิดอยู่ในช่วงบนของแท่งเทียน
  2. Piercing Line
    ประกอบด้วยแท่งเทียน 2 แท่ง แท่งแรกจะเป็นแท่งเทียนทึบที่มี Body ยาว ราคาปิดของแท่งแรกปิดใกล้กับราคาต่ำสุด แปลว่าในแท่งเทียนแรกแรงขายยังมีความรีบร้อนในการขายและเป็นฝั่งที่สามารถควบคุมตลาดได้ ในแท่งเทียนถัดมาจะเป็นแท่งเทียนที่เป็นแท่งโปร่งและ Body ขนาดยาว ราคาเปิดของแท่งที่สองลดต่ำลงกว่าราคาปิดของแท่งแรก บ่งบอกถึงแรงขายในช่วงเริ่มต้นแท่งเทียนที่สองยังคงดีอยู่ เมื่อเวลาผ่านไปมีแรงซื้อกลับเข้ามามากสามารถดันราคาให้สูงขึ้น และราคาปิดของแท่งเทียนแท่งที่สองปิดสูงกว่ากึ่งกลางของลำตัวแท่งเทียนแท่งแรก ซึ่งบอกว่าแรงซื้อกลับมาเป็นฝ่ายควบคุมตลาดแทนฝั่งขาย
  3. Engulfing Bull
    จะประกอบไปด้วย 2 แท่งเทียน แท่งแรกจะเป็นแท่งเทียนสั้นๆ ที่มี Body ขนาดเล็ก แปลความหมายได้ว่าแรงขายเริ่มมีความเร่งรีบในการขายน้อยลง และมีการซื้อขายกันในช่วงราคาแคบๆ และแท่งเทียนถัดมาราคาเปิดของแท่งเปิดกระโดดลง แสดงให้เห็นว่าแรงขายมีความพยายามขายในช่วงต้นของแท่งเทียน แต่ระหว่างนั้นมีแรงซื้อกลับเข้ามาอย่างรีบร้อนไล่ซื้อทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจนราคาปิดของแท่งเทียนที่สองปิดใกล้กับราคาสูงสุดของแท่งและราคาปิดของแท่งที่สองสูงกว่า จึงเป็นรูปแท่งเทียนโปร่งยาวที่มีลำตัวขนาดใหญ่ที่ลำตัวของแท่งเทียนกลืนลำตัวของแท่งเทียนแท่งแรก แสดงให้เห็นว่าแรงซื้อชนะแรงขายและเริ่มจะเป็นฝั่งที่ควบคุมตลาด
  4. Bullish Harami
    เป็นรูปแบบที่แสดงถึงความเร่งรีบที่ลดลงของฝั่งที่ควบคุมตลาด จะประกอบไปด้วยแท่งเทียน 2 แท่ง โดยแท่งแรกจะเป็นแท่งเทียนที่เป็นแท่งทึบที่มี Body ยาว ราคาปิดของแท่งเทียนแท่งแรกปิดใกล้กับราคาต่ำสุด แปลว่าในแท่งเทียนแท่งแรกแรงขายยังมีความรีบร้อนในการขายและเป็นฝั่งที่สามารถควบคุมตลาดได้ แท่งเทียนถัดมาเป็นแท่งเทียนสั้นๆ ที่มี Body ขนาดเล็ก แปลความหมายได้ว่าแรงขายเริ่มลดความร้อนแรงในการขายลง จึงซื้อขายในช่วงราคาแคบๆ (รูปแบบ Harami แท่งเทียนจะสลับตำแหน่งกันกับรูปแบบ Engulfing)
  5. Doji
    เป็นรูปแบบแท่งเทียนที่ได้รับความนิยมและพูดถึงเป็นอย่างมาก Doji จะเป็นรูปแท่งเทียนแท่งเดียวที่ราคาเปิดกับราคาปิดเป็นราคาเดียวกัน (อนุโลมกรณีที่ราคาเปิดกับราคาปิดแตกต่างกันน้อยมากๆ ก็อาจถือว่าเป็นรูปแบบ Doji ได้เช่นกัน) ตีความได้ว่าทั้งฝั่งแรงซื้อและฝั่งแรงขายมีความสับสนในทิศทางของราคา ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะออกแรงให้ราคาไปในทิศทางเดิมหรือไม่ จึงสามารถใช้รูปแบบ Doji พิจารณาการกลับตัวของราคาได้ ข้อแนะนำคือรูปแบบ Doji ที่น่าสนใจควรจะเป็น Doji ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ราคาขึ้นหรือลงอย่างชัดเจน

กลุ่มที่ 2 รูปแบบที่เราใช้พิจารณาการกลับของราคาตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง (Bearlish Candlestick Patterns)

รูปแบบแท่งเทียนที่เป็น Bearish จะมีรูปแบบที่ตรงข้ามกับกับรูปแบบ Bullish

โดยรูปแบบ Bearish จะมีความน่าสนใจก็ต่อเมื่อราคาในช่วงก่อนหน้าแท่งเทียนแบบ Bearish เป็นขาขึ้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจการตีความของแท่งเทียนแบบ Bullish แบบต่างๆ ก็สามารถใช้หลักการเดียวกันแต่ทิศทางตรงข้ามมาทำความเข้าใจรูปแบบ Bearish ได้

Advertisements

รูปแบบ Bearish จะสามารถจับคู่กับรูปแบบ Bullish ที่ตรงข้ามกันได้ดังนี้

Bearlish Candlestick Patterns
  1. Inverted Hammer (บางทีอาจเรียกว่า Shooting Star) ตรงข้ามกับ Hammer
  2. Dark Cloud Cover ตรงข้ามกับ Piercing Line
  3. Engulfing Bear ตรงข้ามกับ Engulfing Bull
  4. Bearish Harami ตรงข้ามกับ Bullish Harami
  5. Doji มีหน้าตาของแท่งเทียนเหมือนกับแบบ Bullish

ขอแนะนำเทคนิคเพิ่มเติมในการนำรูปแบบแท่งเทียนไปใช้ซื้อขายจริงให้ได้ผลดียิ่งขึ้น สำหรับการซื้อขายหุ้น Time Frame ที่เหมาะสมกับการใช้คือ Time Frame 1 วัน (ระยะเวลา 1 วัน = 1 แท่ง) และเมื่อเราเห็นรูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้นใน Time Frame 1 วัน ให้ลองปรับ Time Frame ให้สั้นลงเป็น 1 ชั่วโมง หรือ 30 นาทีเพื่อให้เห็นการเคลื่อนที่ได้ละเอียดขึ้น ซึ่งเราอยากจะเห็นว่ากราฟใน Time Frame 1 ชั่วโมงควรจะให้มุมมองเดียวกันกับกราฟ Time Frame 1 วัน ก็จะเพิ่มความน่าจะเป็นที่ราคาจะมีการกลับตัว


สรุป

จากรูปแบบการกลับตัวทั้ง 10 รูปแบบที่แนะนำให้ได้รู้จักนั้น

เป็นตัวอย่างที่ดีในการประยุกต์การอ่านรูปแท่งเทียนเพื่อวิเคราะห์ว่าอารมณ์ของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดเป็นอย่างไร

จากการเปรียบเทียบอารมณ์ของกลุ่มแท่งเทียนก่อนหน้าและแท่งเทียนในปัจจุบัน

Advertisements

เมื่อเราเห็นว่าอารมณ์ของแท่งเทียนในปัจจุบันมีอารมณ์ที่แตกต่างจากกลุ่มแท่งเทียนก่อนหน้า

ทำให้เราได้ข้อมูลว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ทิศทางของราคาอาจจะมีการกลับตัว

สำหรับการซื้อหุ้นแนะนำให้ใช้ Time Frame 1 วัน เพื่อดูรูปแบบการกลับตัวของราคา


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk

Advertisements

Daddy Trader

เทรดเดอร์พ่อลูกอ่อน Technical Analysis

Related post

Advertisements