เตรียมร่างกฎหมาย ปรับเพิ่มประกันสังคม ม.33 จ่ายสูงสุด 1,150 บาท
เอาแล้วไง ! ประกันสังคมเปิดรับฟังความคิดเห็น อาจปรับเพดานเงินเดือนมาตรา 33 จาก 15,000 บาท เป็นสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2567-2573 ทำให้จากที่เคยส่งเงินสมทบสูงสุด 750 บาทต่อเดือน อาจต้องส่งเพิ่มขึ้นเป็น 1,150 บาทต่อเดือน !! รายละเอียดมีอะไรบ้าง มาดูกัน
ประกันสังคม คืออะไร ?
ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
หรือพูดง่าย ๆ คือ การทำประกันกับรัฐบาล ด้วยการจ่ายเบี้ยประกันที่เรียกว่าเงินสมทบ ให้กับกองทุนประกันสังคมเป็นรายเดือน เพื่อรับความคุ้มครองนั่นเอง
ตารางปรับเพิ่มประกันสังคม
ขณะนี้ กระทรวงแรงงานได้เปิดรับฟังความเห็น “ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … “ ผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางกฎหมาย law.go.th โดยรายละเอียดสำคัญคือ การปรับค่าจ้างขั้นสูงจากเดิม 15,000 บาท เป็นเพดานใหม่สูงสุดไม่เกิน 23,000 บาท ซึ่งจะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อธิบายเพิ่มเติมก็คือ ประกันสังคมมาตรา 33 จะจ่ายเงินสมทบ 5% จากเดิมคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป จะต้องจ่ายสมทบเดือนละ (15,000 x 5%) 750 บาท หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ก็จะต้องจ่ายสมทบในอัตราใหม่ โดยคนที่มีรายได้ 23,000 บาทขึ้นไป จะต้องจ่ายสมทบเดือนละ (23,000 x 5%) 1,150 บาท หรือปีละ 13,800 บาท
ปรับเพิ่มประกันสังคมยังไงบ้าง ?
หากกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้จริง การปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 67 – 31 ธ.ค. 69 ปรับเพดานเงินเดือนไม่เกิน 17,500 บาท และจ่ายเงินสูงสุดที่ 875 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 70 – 31 ธ.ค. 72 ปรับเพดานเงินเดือนไม่เกิน 20,000 บาท และจ่ายเงินสูงสุดที่ 1,000 บาท
- ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 73 เป็นต้นไป ปรับเพดานเงินเดือนไม่เกิน 23,000 บาท และจ่ายเงินสูงสุดที่ 1,150 บาท
สิทธิประโยชน์เพิ่ม หลังปรับขึ้นเพดานเงินสมทบ
หากมีการปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนของประกันสังคมจริง สิทธิประโยชน์ก็จะเพิ่มขึ้นด้วย ดังนี้
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ 70% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินทดแทนการขาดรายได้ในกรณีว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่นำส่งเข้ากองทุน
- เงินบำนาญชราภาพ ไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่นำส่งเข้ากองทุน โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุกการส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน
- เงินบำเหน็จชราภาพจะได้รับเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากมีการนำส่งเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นจากการปรับฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายได้ที่ https://www.law.go.th/listeningDetail?survey_id=MTUxMURHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ=
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT : https://bit.ly/3J8LS1W