วัยรุ่น Y2K ยังจำกันได้ไหม ? พวกเราเติบโตมากับการฟังเพลงแบบไหนบ้าง
แม้รูปแบบเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่เสียงดนตรียังบรรเลงในหัวใจเช่นเดิม
ยังจำกันได้หรือเปล่าว่าสมัยเรายังเด็ก ๆ ถ้าเราอยากฟังเพลงเราทำยังไงกันบ้าง ไปคอนเสิร์ต ซื้อเทปหรือแผ่นซีดีมาเปิด จนในปัจจุบันรูปแบบการฟังเพลงของใครหลายคนก็กลายเป็นการสตรีมออนไลน์ วันนี้ FinSpace จะชวนให้ทุกคนนึกย้อนไปในช่วงเวลาวัยเด็ก นึกถึงศิลปินยอดนิยมในช่วงเวลานั้น นึกถึงบรรยากาศการฟังเพลงของพวกเรา และลองนึกถึงค่าใช้จ่ายของสิ่งต่าง ๆ แล้วมาแชร์กันว่าทุกคนใช้เงินไปกับการฟังเพลงแบบไหนบ้าง
1. เทปคาสเซ็ท
มีใครเคยมีประสบการณ์มองหาดินสอหรือปากกาเพื่อนำมาใช้กรอเทปกันไหม เทปคาสเซ็ทหรือตลับเทปตลับละ 80 – 100 บาทเคยเป็นวิธีการฟังเพลงที่เคยเป็นที่นิยมมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงปี 1970s-1980s แต่ก็เริ่มลดความนิยมลงเมื่อแผ่นซีดีเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ปัจจุบันการฟังเพลงจากเทปคาสเซ็ทกลายเป็นความคลาสสิกที่ยากจะเล่าให้คนรุ่นใหม่เข้าใจได้ บางคนใช้เทปคาสเซ็ทบันทึกเสียงเพลงจากที่ต่าง ๆ เก็บไว้ฟัง จากวิทยุ (ที่มักมีเสียงพี่ดีเจพูดแทรกขึ้นมา) จากคอนเสิร์ต งานแสดงดนตรี กลายเป็นสเน่ห์ของเทปคาสเซ็ทที่ไม่มีใครเหมือน
2. ฟังวิทยุ
“สวัสดีค่ะ ดีเจป๊อป ขอเพลงเพื่อนสนิทของดา เอ็นโดฟิน ฟังระหว่างทางกลับบ้านหน่อยค่ะ”
การฟังเพลงจากวิทยุช่องโปรด รอคอยดีเจที่ชอบมาเลือกเพลงให้เราฟังเป็นอีกหนึ่งกิจวัตรประจำวันของใครหลายคน บางคนอาจจะฟังจากวิทยุบนรถ หรือซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์เครื่องละประมาณ 500 – 1000 บาทเพื่อฟังเพลงโดยเฉพาะ บรรยากาศการฟังเพลงสลับกับเสียงนุ่ม ๆ ของดีเจที่มาชวนพูดคุยกับผู้ฟังวิทยุคงทำให้หลายคนหวนคิดถึงชีวิตวัยรุ่นของตนไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เราสามารถโทรศัพท์เข้าไปขอเพลงที่ชอบได้ คงเป็นอะไรบางอย่างที่ชวนตื่นเต้นไม่น้อย
3. แผ่นซีดี
เมื่อศิลปินที่ชื่นชอบออกเพลงใหม่ เราที่ติดตามฟังเพลงของเขาก็พลาดไม่ได้ทีเดียวที่จะมองหาอัลบั้มตามชั้นวางสินค้าในทันที แผ่นซีดีเพลงที่บรรจุอยู่ในกล่องพลาสติกหรือหนังสือปกแข็งดีไซน์แตกต่างกันไปตามเพลงและศิลปินนั้นถูกนำมาใส่เครื่องเล่นซีดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะมีอัลบั้มใหม่ออกมา ราคาของอัลบั้มเพลงก็หลากหลายมีตั้งแต่ราคา 100 บาทไปจนถึงราคาเกือบพัน แผ่นซีดีเริ่มเป็นที่นิยมในปี 1993 และครองสัดส่วนของตลาดอุตสาหกรรมดนตรีถึง 90% ในปี 2003 ปัจจุบันนี้ยังคงมีอัลบั้มเพลงใหม่ ๆ จำหน่ายอยู่ แม้จะมีรูปแบบการฟังเพลงแบบอื่นแต่อัลบั้มใหม่ ๆ ก็ให้คุณค่าในฐานะของสะสม จึงมีดีไซน์สวยงามสะดุดตา และมีของแถมมากมายให้แฟนเพลงได้เลือกซื้อหามาเก็บไว้
4. เครื่องเล่น MP3
ถ้าหากต้องเดินทางไปไหนมาไหนก็คงไม่สะดวกที่จะพกเครื่องเล่นซีดีไปในทุกที่ หลายคนเลือกที่จะใช้เครื่องเล่น MP3 หรือ Ipod ราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่นเพื่อฟังเพลงที่ชอบได้ในทุกที่ตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง บางคนอาจโหลดเพลงที่ชอบเก็บไว้ฟัง บางคนอาจใช้ฟังวิทยุ เพียงพกอุปกรณ์ขนาดเล็กกะทัดรัดแบบนี้ ชาร์จแบตให้เต็ม เราก็สามารถฟังเพลงที่ชอบได้ทุกที่ทุกเวลา
5. บริการการสตรีมเพลงออนไลน์
นับตั้งแต่ช่วงปี 2010s อันเป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารจัดเก็บและเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การฟังเพลงโดยการสตรีมเพลงกลายเป็นรูปแบบใหม่ในการฟังเพลงของคนหมู่มากจนถึงปัจจุบัน บริการสตรีมเพลงออนไลน์เติบโตอย่างมาก
หัวใจหลักที่ทำให้การฟังดนตรีผ่านการสตรีมเพลงเป็นที่นิยมคือความสะดวกสบาย เพียงมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถฟังได้แล้ว รวมถึงฟังเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ เป็นการสนับสนุนศิลปิน และสามารถฟังเพลงได้หลากหลาย เพิ่มโอกาสในการค้นพบเพลงใหม่อีกไม่สิ้นสุด
ข้อมูล
ณทิตา ทรัพย์สินวิวัฒน์. 2017. อุตสาหกรรมเพลงไทยในยุคประเทศไทย 4.0. วารสารวิชาการนวัตกรรมสื่อสารสังคม. 5, 1 (มิ.ย. 2017), 157–167.
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W