3 สัญญาณที่บอกว่าคุณบริหารเงินได้ดีขึ้น
#FSspecialcolumnists x เด็กการเงิน DekFinance l เชื่อว่าหลายคนคงอ่านบทความ Personal Finance หรือการเงินส่วนบุคคลมากันเยอะแล้ว วันนี้อยากแนะนำตัวชี้วัดทางการเงิน ที่เด็กการเงินคิดว่ามีความสำคัญมาก และเป็น Checklist เบื้องต้นที่วัดการเงินของแต่ละคนได้ . . อย่ารอช้า มาเริ่มกันเลย !
1. สัดส่วนเงินเก็บฉุกเฉินต่อค่าใช้จ่ายรายเดือน
เงินเก็บฉุกเฉิน / ค่าใช้จ่ายรายเดือน
- จะได้ออกมาเป็นจำนวนเท่าหรือเดือนนั่นเอง ยกตัวอย่าง สมมติมีค่าใช้จ่ายอยู่ทั้งหมด 30,000 บาทต่อเดือน เงินเก็บฉุกเฉินก็ควรมีอย่างน้อย 180,000 บาท สำหรับ 6 เดือน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเงินเก็บฉุกเฉินคือส่วนที่มีสภาพคล่องสูง เพราะฉะนั้นควรลงในสินทรัพย์ที่ซื้อขายง่าย แนะนำเป็นฝากแบบ E-Savings ซึ่งได้ดอกเบี้ยในระดับ 1-1.5% ได้ ไม่ได้แตกต่างกับ Money market fund หรือกองทุนตราสารเงินมากนัก หลายคนอาจจะคิดว่าลงทุนในหุ้น หรือกองทุนอื่นก็ซื้อขายออกมาง่ายเหมือนกันนะ เดียวนี้ขายหุ้นในวัน ก็เงินถอนได้แล้ว ต้องบอกก่อนว่าเงินตัวนี้ไม่อยากให้มันมีความผันผวนหรือขาดทุน อีกทั้งต้องมีสภาพคล่องสูงด้วย การลงทุนในหุ้น ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง อาจจะทำให้เงินขาดทุนได้ และในช่วงที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน จำเป็นต้องยอมขายขาดทุน ออกมาใช้ ทำให้ผิดแผนการลงทุนอีก เพราะฉะนั้นควรแบ่งให้ชัดไปเลยว่าส่วนนี้คือออมเงิน และต้องการสภาพคล่องเป็นหลัก
2. เงินที่ออมต่อรายได้ต่อเดือน
เงินที่ออมต่อเดือน / รายได้ต่อเดือน
- สัดส่วนนี้ควรมีอย่างน้อย 10% อันนี้แบบตามตำราหนังสือการเงินเลย ซึ่งจริงๆ แล้วทุกคนควรเก็บให้ได้ประมาณนี้แหละ แต่ก็ต้องบอกก่อนว่าเราควรที่จะมีการวางแผนที่ชัดเจน ถูกต้องด้วยนะ ตามความต้องการและเป้าหมายทางการเงินของเรา เช่น เราต้องการใช้เงิน x บาทต่อเดือนหลังเกษียณ เราต้องมีเงินต้องเกษียณเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสมมติตอนนี้อายุ 30 มีเวลาเก็บ 30 ปี (เกษียณตอนอายุ 60) ควรเก็บเงินต่อเดือนเท่าไหร่ หรือต่อปีเท่าไหร่ มากกว่าการยึด % ของการออมต่อรายได้ เพราะเราอาจจะบอกว่าเราออม 10% ต่อเดือน แต่รายได้คนเราไม่เท่ากัน ความต้องการไม่เท่ากัน เราอาจจะออม 10% ต่อเดือน ซึ่งมันอาจจะไม่เพียงพอต่อการเกษียณก็ได้นะ เพราะมันน้อยไป แต่สัดส่วนนี้ก็เป็นเพียงตัวชี้วัดคร่าวๆ ว่าเรามาถูกทางแล้ว
3. สัดส่วนการชำระนี้ต่อรายได้ต่อเดือน
เงินที่ชำระหนี้ต่อเดือน / รายได้ต่อเดือน
- สัดส่วนนี้ไม่ควรเกิน 40% ต่อเดือน ยกตัวอย่าง สมมติเงินเดือน 50,000 บาท เท่ากับว่าเราไม่ควรชำระหนี้เกิน 20,000 บาทต่อเดือน หรือ 40% ของ 50,000 บาท ถามว่าทำไมต้องไม่เกิน 40% บอกก่อนว่าจริงๆ แล้วเชื่อว่าแบงค์หรือ Finance ก็คงไม่ปล่อยเกิน 40-50% ของรายได้อยู่แล้วแหละ แต่คนเราก็มีหนี้จากหลายที่ได้ ซึ่งสัดส่วนมันจะเกินได้ การที่เรามีหนี้เยอะ ส่งผลต่อกระแสเงินสดรายเดือนของเราด้วย เพราะหนี้พวกนี้มันมาเก็บเราตลอดทุกเดือน ดิ้นไม่ได้เลย ถ้าเกิดไม่มีจ่ายก็กระทบหลายอย่างเช่น ล้มละลายได้ ถูกยึดทรัพย์สิน ส่งผลต่อ Credit score กู้อะไรต่อไปยากอีก รวมถึงถ้าเราจ่ายหนี้ เท่ากับว่าเงินที่เราเหลือไปในส่วนอื่นๆก็น้อยลง ทำให้คุณภาพชีวิตเราอาจจะแย่ลงด้วย เราอาจจะไม่มีเงินเหลือไปเที่ยว หรือกินของอร่อยที่ทำให้เรามีความสุขได้
สรุป
- 3 สัญญาณนี้เป็นเพียงตัว checklist เบื้องต้นของทุกคน ในความเป็นจริงยังมีส่วนอื่นที่ต้องดูอีกด้วยเช่น วันนี้เราทำประกันสุขภาพหรือยัง จะคุ้มครองเราถึงอายุเท่าไหร่ ประกันที่เราทำเพียงพอหรือไม่ ครอบคลุมโรคยอดฮิตหรือเปล่า หากทุพพลภาพทำงานไม่ได้ ขาดรายได้ทำอย่างไร ประกันชีวิตต่อหนี้สินหรือความต้องการการเงินอื่น เช่น สมมติเรามีหนี้บ้าน ประกันชีวิตคุ้มครองหนี้สินส่วนนี้ไหม เพื่อไม่ให้ภาระต่อไปที่คนรอบข้างในกรณีที่เราเป็นอะไรไป หรือประกันบางที่ ประกันสุขภาพคุ้มครองถึงแค่ 85 ปี แล้วหลังจากนั้นเจ็บป่วยทำไง ประกันชีวิต เราก็สามารถเวนคืน เพื่อมาใช้ได้นะ หรือถ้าเป็น unit linked เราก็จะมีมูลค่ากองทุน ยิ่งไปกว่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเราที่ทำ ก็เพื่อที่เราจะมีความมั่งคั่ง ซึ่งวัดจากการที่ สินทรัพย์ทั้งหมดของเรา – หนี้สินทั้งหมด แล้วยังเป็นบวก ถือว่าดี ถ้ามันยิ่งเยอะ ก็ยิ่งดี
วันนี้แค่ 3 สัญญาณนี้ เพื่อนๆ ทำกันได้แค่ไหนแล้วครับ ?
——————————————–
ติดตาม #FinSpace เพิ่มเติมได้ที่
Instagram : https://bit.ly/3N3Yc5X
TikTok : https://bit.ly/3pAovpq
Twitter : https://bit.ly/3Cp68Ll
Blockdit : https://bit.ly/3VM3HJr
Website : http://bit.ly/2lxvlhY