FinSpace

จับคู่สินทรัพย์ทางการเงิน ให้เหมาะกับเป้าหมาย

FS finno guru cover 1

เคยฝันกันมั้ยว่า อยากให้ชีวิตตัวเองเป็นแบบไหน ?

“อยากมีเงินเก็บหลักล้าน

Advertisements

อยากมีบ้านหลังใหญ่

อยากมีเงินใช้ไม่ขาดมือ

อยากถือกระเป๋าเที่ยวรอบโลก”

ซึ่งหลาย ๆ ความฝันเหล่านี้สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ เพียงวางแผนการเงิน แต่เหตุผลที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนไม่ได้วางแผนการเงินอาจจะเป็นเพราะไม่รู้จะวางแผนไปทำไม เพราะทุกวันนี้ก็ใช้เงินเดือนชนเดือนอยู่แล้ว หรือรู้สึกว่ามันยุ่งยาก ไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ..

ถ้าอย่างนั้นมาเริ่มต้นวางแผนการเงินแบบง่าย ๆ สำหรับคนที่อยากทำให้ฝันเป็นจริง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นวางแผนชีวิตและจัดระเบียบการเงินของตัวเองจากตรงไหน ลองเริ่มจาก 2 Step ง่าย ๆ ดังนี้

Step 1 : แยกประเภทเป้าหมายออกเป็น 4 ประเภทตามความสำคัญ

เริ่มต้นวางแผนการเงินง่าย ๆ อย่างการเปลี่ยน Mindset จาก “อยากมี” ให้กลายเป็น “เป้าหมาย” และที่สำคัญต้องแบ่งแยกประเภทของเป้าหมายตามความสำคัญ เพื่อให้แผนการเงินของเรานั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแบ่งเป้าหมายออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • Need คือ เป้าหมายที่จำเป็นและสำคัญต่อชีวิต เช่น การเกษียณอายุ การศึกษาลูก เก็บเงินแต่งงาน
  • Want คือ เป้าหมายที่เราต้องการหรืออยากได้ เช่น การมี Passive income เดือนละ 100,000 บาท
  • Wish คือ เป้าหมายที่เราอธิษฐานอยากให้เป็นจริง อาจจะเป็นการให้รางวัลตัวเอง เช่น เที่ยวต่างประเทศประจำปี
  • Dream คือ เป้าหมายที่ใฝ่ฝันถึงแต่ไม่ใช่สิ่งจำเป็น เช่น ซื้อรถหรู ซื้อบ้านพักตากอากาศ

ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละคนอาจจะให้คำจำกัดความต่างกันสำหรับแต่ละเป้าหมายก็ได้ เช่น บางคนอาจจะมองว่า การมี Passive income เป็นเพียง Wish หรือการเก็บเงินแต่งงาน เป็นเพียง Want ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร เพียงเราสามารถกำหนดประเภทเป้าหมายของเราได้ก็เพียงพอแล้ว

Step 2 : จับคู่สินทรัพย์ทางการเงินให้เหมาะกับเป้าหมาย

เมื่อเราแบ่งเป้าหมายตามความสำคัญออกเป็น 4 ประเภทเรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อไปก็ให้นำเป้าหมายแต่ละประเภทมาระบุว่าเป็นเป้าหมายระยะเวลาขนาดไหน โดยเราอาจจะระบุระยะเวลาได้ตามนี้ คือ ระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี, ระยะกลาง 3-7 ปี และระยะยาวมากกว่า 7 ปี ทั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้จับคู่กับสินทรัพย์ทางการเงินที่เหมาะสมอีกที ดังนี้

1. เป้าหมายสำคัญ

หากเป็นเป้าหมายที่สำคัญ อย่าง Need และ Want อาจจะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เพื่อให้เป้าหมายมีความเป็นไปได้จริง ๆ แต่ก็ต้องให้สอดคล้องกับระยะเวลาของเป้าหมายนั้น ๆ ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น หากมีเป้าหมายเกษียณอายุ ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว มีเวลาลงทุนมาก สินทรัพย์ที่เหมาะสม คือ สินทรัพย์ที่สามารถเสี่ยงได้มากขึ้นแต่ก็ยังมีความมั่นคง เช่น หุ้นพื้นฐานดี, กองทุนหุ้นไทย/หุ้นต่างประเทศ, กองทุน SSF/RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ, กองทุนการออมแห่งชาติ, ประกันบำนาญ, ประกันควบการลงทุน

Advertisements

แต่หากเป็นเป้าหมายสำคัญที่มีระยะสั้นลงมา เช่น เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน หรือเก็บเงินเรียนต่อ อาจพิจารณาสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ปลอดภัยสูง และมีสภาพคล่องที่หยิบดึงมาใช้ได้ง่าย เช่น เงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น

2. เป้าหมายไม่สำคัญ

หากเป็นเป้าหมายที่ไม่สำคัญแต่ถ้ามีก็ดี อย่าง Wish และ Dream อาจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะถึงไม่สำเร็จ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าสำเร็จก็ดี ซึ่งเป้าหมายตรงนี้ก็จะต้องมาแยกระยะเวลาอีกเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากมีเป้าหมายเก็บเงินไปเที่ยว (Wish) ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะกลาง ที่มีเวลาลงทุนมากขึ้นอีกหน่อย อาจพิจารณาผสมสินทรัพย์เสี่ยงเข้ามาได้บ้าง เช่น กองทุนรวมผสม หรือพอร์ตการลงทุนที่ผสมทั้งตราสารหนี้และหุ้น

แต่ถ้าหากเป็นเป้าหมายซื้อบ้านพักตากอากาศในอนาคต แล้วเราจำแนกเป็นเป้าหมายระยะยาว ก็อาจจะสามารถเพิ่มสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูงเข้ามาในพอร์ตได้ เช่น กองทุนรวมตราสารทุน หรือกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม เป็นต้น

FS finno guru

ติดตาม #FinSpace เพิ่มเติมได้ที่

Advertisements

Instagram : https://bit.ly/3N3Yc5X

TikTok : https://bit.ly/3pAovpq

Twitter (x) : https://bit.ly/3Cp68Ll

Blockdit : https://bit.ly/3VM3HJr

Website : http://bit.ly/2lxvlhY

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements