FinSpace

คู่มือบริหารหนี้ ปลดหนี้ยังไง ให้หมดไวที่สุด AKN Blog x FinSpace

คู่มือบริหารหนี้

“หนี้” 1 ในคำสั้นๆ ที่กลายเป็นสภาวะทิ้งตัวของใครหลายๆ คน และเป็น 1 ในภาวะที่เชื่อว่าทุกๆ คนคงไม่อยากเป็นกัน มาวันนี้ AKN Blog ขอมาแชร์มุมมองการบริหารหนี้ สำหรับคนที่เป็นหนี้แล้ว ว่าทำอย่างไร จะได้ใช้หนี้อย่างคุ้มค่า และหมดให้ไวที่สุด

ในกรณีที่หนี้สิน “รุงรัง” ไปหมด ก่อนอื่นเลยมี 4 สิ่งที่ต้องรู้

หนี้สิน ที่ต้องรู้

1.ยอดหนี้มีเท่าไหร่

เพื่อที่จะได้เห็นเป้าหมายว่าการปลดหนี้ของเรานั้นใกล้ หรือไกลเพียงใด ซึ่งจะช่วยให้เรานั้นบริหารกระแสเงินสดได้ดียิ่งขึ้น

Advertisements

2.รายได้คงเหลือของเรา

ควรเช็กรายได้รายเดือนของเรา ทั้งก่อน และหลังชำระสินเชื่อในแต่ละเดือนเพื่อนำมาวางแผนในการชำระให้ถูกต้อง

3.ดอกเบี้ยคิดอย่างไร และเท่าไหร่

สิ่งสำคัญต่อมาก็คือ เราต้องรู้ให้ได้ว่า “หนี้” ที่เราติดอยู่นั้นมีวิธีการคิดดอกเบี้ยแบบใด เช่น ชำระแบบลดต้นลดดอก หรือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งมีความสำคัญมาก จึงขอลงรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

โดยทั่วไปแล้วการคิดดอกเบี้ยนั้นมี 2 แบบ ซึ่งสิ่งที่เหมือนกันคือ เมื่อเราชำระเงินเข้าไปจำนวนหนึ่ง เช่น 2,000 บาท เงินจำนวนนั้นจะถูกกันส่วนหนึ่งเพื่อไปชำระดอกเบี้ย และส่วนที่เหลือจะถูกนำไปชำระเงินต้น แต่สิ่งที่ต่างคือภาระดอกเบี้ยที่ เท่าเดิม หรือ ลดลง ในการชำระ งวดถัดๆ ไป

กรณีแบบลดต้นลดดอก เมื่อชำระแล้วงวดถัดไปเราจะเสียดอกเบี้ยน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากคิดบนเงินต้นที่น้อยลง เช่น ติดหนี้ 10,000 บาท ดอกเบี้ย 2% (สมมติว่าต่องวด) จะทำให้ดอกเบี้ยเท่ากับ 200 บาท (10,000 x 2% = 200) ทำให้เหลือชำระเข้าเงินต้นที่ 1,800 บาท ส่งผลให้ในงวดถัดมาดอกเบี้ย 2% ต่องวดดังกล่าวจะคิดจากเงินต้นเพียง 8,200 บาทเท่านั้น ทำให้เราเสียดอกเบี้ยในงวดถัดมาเพียง 164 บาท และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชำระเงินต้นทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า หากเรายิ่งชำระต่องวดมากเท่าไหร่ งวดถัดๆ ไปจะเสียดอกเบี้ยน้อยลงเท่านั้น และทำให้เราเสียดอกเบี้ยโดยรวมทั้งหมดน้อยลง

ในขณะที่หากเป็นการคิดดอกแบบอัตราคงที่ หากเราชำระเท่ากันที่ 2,000 บาท งวดต่อๆ มาก็จะเสียดอกเบี้ย 200 เท่าเดิมอยู่ดี เนื่องจากคิดจากเงินต้นที่ 10,000 เสมอ ส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นอันใดที่เราจะต้องชำระเกินเข้าไป เพราะไม่ช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยได้แม้แต่บาทเดียว ซ้ำยังทำให้เราเสียโอกาสที่จะนำไปลงทุน หรือชำระสินเชื่อตัวอื่นที่คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกด้วย

นำมาสู่ส่วนถัดมา คือ คิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้เราเลือกถูกว่าควรชำระหนี้ก้อนไหนก่อนหากเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอกเหมือนกัน กล่าวง่ายๆ คือ หากคิดดอกแบบลดต้นลดดอกเหมือนกันแล้ว ก็แนะนำให้ชำระตัวแพงก่อน เพื่อประหยัดดอกเบี้ยที่จะต้องเสียทั้งสัญญาให้ได้มากที่สุด (แต่ก็มีข้อแม้อยู่เล็กน้อย ซึ่งจะกล่าวถึงด้านล่าง)

4.ผ่อนเท่าไหร่ และคิดอัตราผ่อนอย่างไร

การที่เรารู้ว่าผ่อนเท่าไหร่ จะช่วยให้เราคำนวณได้ถูก ว่ารายได้ที่เหลือนั้นพอชำระหรือไม่ แต่สำคัญกว่าก็คือ ผ่อนอย่างไร

เช่น ทั่วไปแล้วสินเชื่อเงินก้อนทั้งหลายจะมีอัตราผ่อนแบบคงที่ กล่าวคือ กรณีกำหนดมาแล้วว่า 2,000 ต่อเดือน ก็จะต้องชำระอย่างน้อย 2,000 ต่อเดือนเสมอ ไม่ว่าเดือนก่อนหน้าจะผ่อนไปกี่แสนก็ตาม

กับอีกกรณีคือ อัตราผ่อนที่ลดตามเงินต้น ซึ่งโดยมากแล้วจะเป็นรูปแบบของบัตรกดเงินสด และบัตรเครดิต (ต้องมิใช่กรณีทำผ่อนของตามโปรโมชั่น) โดยทั่วไปบัตรกดเงินสดมักมีกำหนดอัตราผ่อนไว้ 3-5% ของเงินต้นคงเหลือ หรือขั้นต่ำ 500-1,000 บาท แล้วแต่อัตราไหนสูงกว่า กับบัตรเครดิตทีมักกำหนดให้ชำระขั้นต่ำ 10% ของเงินต้นหรือ 500-1,000 บาทแล้วแต่ตัวไหนสูงกว่าเช่นเดียวกัน ส่งผลให้การชำระสินเชื่อประเภทนี้เป็นจำนวนมากในเดือนนั้นๆ จะทำให้อัตราผ่อนในเดือนหน้าของเราลดลง

ชำระหนี้

เมื่อเราทราบทั้ง 4 ข้อแล้ว ก็มาดูกันต่อว่า แล้วเราจะเลือกชำระอะไร ยังไงดี

ขั้นแรก ดูก่อนว่าเงินที่เหลือนั้นชำระหนี้ครบแล้ว จะทำให้เราเงินขาดมือหรือไม่

Advertisements

หากไม่ขาดมือซ้ำยังมีเหลือสามารชำระเพิ่มเติมได้อีก ให้ทดไว้ในใจก่อน แต่หากชำระเสร็จแล้วเงินขาดมือ จนทำให้เราต้องวนกลับมาใช้วงเงินเหล่านั้นอีก โดยเฉพาะกลุ่มบัตรทั้งหลาย แนะนำให้นำเงินที่เหลือทั้งหมด จ่ายเพิ่มเข้าไปในบัตรกดเงินสด (ถ้ามี) เพื่อการประหยัดดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุด และค่อยวนเอาออกจากบัตรกดเงินสดนั้นๆ มาใช้ เพื่อสร้างสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด จะได้ไม่ต้องใช้สินเชื่ออื่นๆเพิ่มเติม ซึ่งมีอัตราการผ่อนที่สูงกว่าและอาจทำให้เราขาดสภาพคล่องได้อีกครั้ง

แต่ในกรณีนี้ต้องระวังในเรื่องของรอบการคิดดอกเบี้ย เพราะหากถึงรอบคิดดอกเบี้ยเมื่อไหร่ จะทบดอกเบี้ยเข้ามาตัดวงเงินที่คงเหลืออยู่ในบัตรจนเงินขาดมือได้อีกครั้ง ทำให้เมื่อใกล้วันคิดดอกเข้ามา ให้ประมาณการใช้จ่ายให้ดี และ กดออกมาให้มากพอใช้จ่าย และเลิกใช้บัตรนั้นๆ จนกว่าจะชำระเข้าไปอีกครั้ง ซึ่งการทำแบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาการชำระแค่ขั้นต่ำแล้วไม่เข้าต้น จนต้องข่ายแพงขึ้นเรื่อยๆ ได้

ดอกเบี้ยแบบไหน

ต่อมา กรณีที่ทดไว้ในใจ คือชำระเสร็จแล้วไม่มีปัญหาเรื่องเงินขาดมือ ให้ลองกวาดตาดูให้ทั่ว ว่าดอกเบี้ยหนี้ก้อนไหนแพงที่สุดและเป็นแบบลดต้นลดดอก เพื่อเกลี่ยเงินบางส่วนมาชำระเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุดโดยต้องไม่ชำระมากเกินไปจนส่งผลให้เราอาจกลับมาเงินขาดมืออีกครั้ง เพื่อประหยัดดอกเบี้ยให้ได้มากที่สุด

หรือบางท่านหากต้องการสำรองเงินสด เผื่อเหตุฉุกเฉิน อาจเลือกเน้นการโปะไปที่บัตรเครดิต เพื่อเป็นการสำรองวงเงิน และ ประหยัดดอก เพราะบัตรเครดิตนั้นคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ตามยอดการรูดของเรา เช่น บัตรใบเดียว รูด 2 ก้อน ก้อนแรก 3,000 ก้อนสอง 2,000 ระบบจะคิดดอกเบี้ย 20% ต่อปี บนเงินต้นทั้งสองก้อน (5,000 บาท) จนกว่าจะจ่ายก้อนแรก 3,000 บาทหมด จึงเปลี่ยนมาคิด 20% บนเงินต้น 2,000 บาทแทน วิธีหลังจะช่วยให้เรามีเงินสดสำรองเผื่อฉุกเฉิน และประหยัดดอกได้ด้วย (หากชำระหมดเป็นก้อนๆ)

แต่หากกรณีที่เงินเหลือแล้ว ปรากฏว่าหนี้ที่เหลือทั้งหมดนั้นเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ โดยทั่วไปจะแนะนำให้นำเงินที่เหลือนั้นเก็บสะสมไว้ เพื่อสำรองกรณีฉุกเฉิน (กันเงินขาดมืออีกครั้ง) และเมื่อสะสมเงินจำนวนนั้นได้มากระดับหนึ่ง ให้ลองเปรียบเทียบกับยอดหนี้คงเหลือของสินเชื่อนั้นๆ ดู ว่าเท่ากับเงินต้นคงของสินเชื่อแบบอัตราคงที่ที่เหลือหรือยัง หากเท่าหรือมากกว่าแล้วแนะนำให้ติดต่อผู้ให้กู้ เพื่อชำระปิดบัญชีทันทีเพื่อเสริมสภาพคล่องจากอัตราผ่อนที่ลดลง และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่บางชนิดนั้นมักจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยให้เมื่อชำระเป็นเงินก้อนเพื่อปิดวงเงิน ย้ำ!!! เมื่อปิดวงเงินเท่านั้น!!!! ซึ่งเมื่อทำเช่นนี้ จะส่งผลให้เราได้ประโยชน์ 3 ทาง ทั้งประหยัดดอกเบี้ย มีเงินสดสำรองเสมอในยามที่ยังไม่ได้ปิด และ มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเมื่อปิดวงเงินแล้ว

เกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับดอกเบี้ย

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

บัตรกดเงินสด ถูกออกแบบมาเพื่อกดเงินสด ทำให้ไม่มีค่าธรรมเนียมเวลากด แต่มีอัตราดอกเบี้ยที่มักจะแพงที่สุดที่ประมาณ 28% ต่อปี

บัตรเครดิต มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 30-60 วัน ในกรณีที่เราชำระเงินคืนได้ทั้งหมดจะทำให้เราไม่เสียดอกเบี้ยแม้แต่บาทเดียว เว้นแต่กดเงินสดออกมาใช้ ซึ่งมีค่าธรรมเนียม 3% (ขั้นต่ำ 500 บาท) และคิดดอกเบี้ยทันทีตั้งแต่วันแรกที่กดใช้ ทำให้ไม่แนะนำกดเงินสดออกมาใช้โดยไม่จำเปฺ็น แต่แนะนำให้ใช้รูดซื้อของแล้วชำระเต็ม (หากทำได้) เนื่องจากได้ทั้งสิทธิพิเศษ Point หรือ Cash Back โดยที่ไม่เสียดอกสักบาท

Advertisements

สินเชื่อเงินก้อน โดยทั่วไปอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า และมีอัตราผ่อนที่ถูกกว่าบัตรทั้งหลายในเชิงเปรียบเทียบ เช่น หากใช้สินเชื่อ 100,000 บาท ในกรณีของบัตรกดเงินสดจะต้องชำระขั้นต่ำประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน กรณีบัตรเครดิตจะต้องชำระขั้นต่ำประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน แต่ในกรณีของสินเชื่อเงินก้อน สัญญา 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 28% (สูงสุดที่กฏหมายกำหนด แต่โดยมากเงินก้อนมักไม่เก็บแพงขนาดนี้ การคิดแบบนี้จึงเป็นการคิดแบบ WorstCase) จะผ่อนชำระเพียง 3,200 บาทต่อเดือนเท่านั้น และโดยมากมักคิดแบบลดต้นลดดอกด้วย แต่มีอัตราผ่อนตายตัว และมีเงื่อนไขการจ่ายที่หลากหลาย เช่น ห้ามชำระปิดก่อน 1 ปี, ห้ามโปะเกิน 2 เท่า ฯลฯ จึงควรศึกษาเงื่อนไขให้ดีก่อนพิจารณาใช้ หากเงินขาดมือมากในแต่ละเดือน

อาจพิจารณาใช้สินเชื่อเงินก้อนเหล่านี้มาปิดวงเงินบัตรทั้งหลาย เพื่ออัตราผ่อนที่ถูกลง และดอกเบี้ยที่ถูกลง

แต่สำคัญมาก!!! คือ ต้องหัก ทำลาย เผา ปิด บัตรเหล่านั้นให้เรียบร้อย เพื่อกันไม่ให้เรากลับไปใช้บัตรเหล่านั้นอีก จนส่งผลให้เงินขาดมือ และกลายเป็นหนี้ซ้ำซ้อน งูกินหาง ไม่จบไม่สิ้น สุดท้ายแล้ว เมื่อเงินเริ่มเหลือ ก็อย่าลืมเก็บออม และวางแผนให้ดี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมาติดวังวนนี้อีกต่อไป…

ติดตามบทความ การเงิน สนุกๆกันต่อได้ที่ FinSpace – Finance
ติดตามบทความอื่น ๆ คลิ้ก Guru AKN Blog
หรือ Facebook : AKN blog

Advertisements

Akn Blog

Related post

Advertisements