Money Management ที่มาและวัตถุประสงค์
รวมซีรีส์อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ทั้งหมด
EP 1 (ประเด็นสำคัญในการบริหารเงินลงทุน)
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-1/
EP 2 (Money Management ที่มาและวัตถุประสงค์) <<<<
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-2/
EP 3 (ขั้นตอนในการบริหารเงินลงทุน)
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-3/
EP 4 (รู้จัก Risk of Ruin)
https://www.finspace.co/money-management-for-trader-4/
ในซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 1 นั้นผมได้แนะนำให้รู้จักกับภาพกว้าง ๆ ของการบริหารเงินลงทุน (Money Management) และยกตัวอย่างประเด็นที่ควรพิจารณาเวลาบริหารเงินลงทุน สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้ ผมจะแสดงให้เห็นถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของ Money Management ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้เพื่อน ๆ เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าทำไมการบริหารเงินลงทุนจึงมีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับผลกำไรขาดทุนที่จะเกิดขึ้นจากการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ในระยะยาว
ที่มาของการบริหารเงินลงทุน
สาเหตุที่ทำให้การบริหารเงินลงทุนเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เนื่องจากมีความจริงเหล่านี้ผู้ลงทุนทุกคนเวลาเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่งที่หลีกหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ
1 ไม่มีใครสามารถรู้ผลการเทรดล่วงหน้า ว่าผลการเทรดในแต่ละครั้ง ครั้งไหนจะมีผลออกมาเป็นกำไร หรือครั้งไหนจะมีผลออกมาเป็นขาดทุน แต่ผู้ลงทุนทุกคนจะต้องพบกับครั้งที่ผลการเทรดออกมาเป็นขาดทุนอย่างแน่นอน ไม่มีใครที่จะสามารถเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์แล้วทำกำไรได้ทุกครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นอาจมีบางช่วงเวลาที่ผลการเทรดออกมาเป็นขาดทุนติดต่อกันหลายครั้งอีกด้วย
2 ไม่รู้ล่วงหน้าว่าจังหวะลงมือเทรดในแต่ละครั้งจะเป็นจังหวะที่ดีมากหรือดีน้อย เราไม่รู้ว่าการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ตัวไหนจะให้ผลดีกว่าตัวอื่น เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าราคาสินค้าตัวไหนราคาจะขยับช้าหรือเร็ว ไม่รู้ว่าการซื้อขายในแต่ละครั้งจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ไม่รู้ล่วงหน้าในการตัดสินใจลงมือซื้อขายแต่ละครั้งว่าผลที่เกิดขึ้นถ้าเป็นกำไรจะทำให้ได้กำไรมากหรือน้อย แต่สำหรับผลขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้งควรถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าด้วย กลยุทธ์ของการ Stop Loss ตามหลักของการบริหารเงินลงทุน
3 เงินทุนมีจำกัด แต่โอกาสในการเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์จะมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถซื้อขายได้ทุกโอกาสที่เข้ามา
” ในโลกของการเทรด ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชัวร์ 100% และการที่เรามีเงินทุนจำกัด “
วัตถุประสงค์ของ Money Management
เนื่องจากผู้ที่ลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์จะต้องพบกับข้อจำกัดและความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทำให้แนวทางในการบริหารเงินลงทุนถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังนี้
1 เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการเทรดแต่ละครั้ง ควบคุมผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นไม่ให้ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเงินลงทุนทั้งหมดที่มี โดยจะใช้วิธีกำหนดผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นสูงสุดในการเทรดแต่ละครั้ง เพราะถ้าการเทรดแต่ละครั้งเกิดผลขาดทุนมาก ๆ หรือมีผลขาดทุนติดต่อกันหลายครั้ง โอกาสที่จะได้ทุนคืนกลับมาก็ยิ่งยากมากขึ้น และโอกาสซื้อขายแล้วหมดตัวก็จะเพิ่มสูงขึ้น (ในตอนต่อ ๆ ไปผมจะแนะนำครับว่าในการเทรดแต่ละครั้งควรเสี่ยงครั้งละเท่าไหร่ เพราะอะไร)
2 เพื่อกระจายความเสี่ยงในการซื้อขายเทรด โดยการวางแผนซื้อขายหุ้นหลายตัว หรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงสินค้าหลากหลายประเภท และหลีกเลี่ยงการซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ที่อ้างอิงสินค้าที่มีความสัมพันธ์ของราคาที่ไปในทิศทางเดียวกัน (Correlation) เนื่องจากถ้าเราซื้อสินค้าที่ราคามีการปรับตัวขึ้นพร้อม ๆ กันหรือลงพร้อมๆ กันเสมอ ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระจายโอกาสและความเสี่ยง
3 เพื่อกระจายโอกาสในการซื้อขาย โดยจัดสรรเงินที่จะใช้ในการซื้อขายในแต่ละครั้ง ทำให้สามารถซื้อขายสินค้าได้หลายตัวในเวลาเดียวกัน หากมีโอกาสให้ซื้อขายเข้ามาพร้อม ๆ กัน
= สรุป =
จากที่มาของความจริงที่ต้องยอมรับในการเทรดหุ้นว่าเราไม่สามารถคาดเดาอะไรล่วงหน้าได้แม่นยำ 100% และมีเงินลงทุนที่จำกัด ทำให้การบริหารเงินลงทุน (Money Management) นั้นมีเป้าหมายหลักให้ผู้ลงทุนไม่ผูกติดผลการลงทุนไว้ที่การซื้อขายเพียงครั้งใดครั้งหนึ่ง และสามารถซื้อขายอนุพันธ์ได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว
ในบทความถัดไปผมจะแนะนำให้รู้จักขั้นตอนในการบริหารเงินในการซื้อขายอนุพันธ์ ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร และมีขั้นตอนอะไรตามมาอีก จนสรุปได้ผลสุดท้ายว่าหลังจากที่ได้สัญญาณซื้อขายจากการวิเคราะห์กราฟแล้ว จะตัดสินใจลงมือเทรดหรือไม่ และเทรดด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
อ่านอะไรต่อดี…