เช็กความเข้าใจ “กองทุนตราสารหนี้“ ลงทุนตอนนี้ ยังไหวไหม ?
เช็กความเข้าใจ “กองทุนตราสารหนี้“ ลงทุนตอนนี้ ยังไหวไหม ?
เมื่อพูดถึงกองทุนตราสารหนี้ เราคงนึกถึงแหล่งพักเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ลงทุนง่ายไม่ซับซ้อน
แต่จากข่าวล่าสุดที่มีปิดกองทุนตราสารหนี้ไปรัวๆ ถึง 4 กอง ทำให้หลายคนน่าจะมองภาพของกองทุนตราสารหนี้เปลี่ยนไปจากเดิม
อย่างไรก็ดี ในภาวะตลาดผันผวนแบบนี้ ถ้าใครยังต้องการทางเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้อยู่ นี่คือเรื่องที่ควรเข้าใจ ก่อนตัดสินลงทุน
.
กองทุนตราสารหนี้ คืออะไร ?
กองทุนตราสารหนี้ คือ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ, ตั๋วเงินคลัง, เงินฝากของธนาคาร, ตั๋วสัญญาใช้เงิน, ตั๋วแลกเงิน, หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น
โดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ
กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น : ลงทุนในตราสารหนี้อายุเฉลี่ย ไม่เกิน 1 ปี
กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว : ลงทุนในตราสารหนี้อายุเฉลี่ยมากกว่า 1 ปี
เข้าใจรูปแบบการทำงานของ “ตราสารหนี้”
การจะเข้าใจกองทุนตราสารหนี้ยิ่งขึ้น อันดับแรกเราต้องเข้าใจรูปแบบการลงทุนใน “ตราสารหนี้” ก่อนว่าเป็นยังไง เพราะเป็นสินทรัพย์หลักที่กองทุนกลุ่มนี้ถือครอง
สำหรับตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลหรือบริษัทเอกชน ออกขายให้กับผู้ลงทุน โดยผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบ “ดอกเบี้ย” กลับมาคืนมาตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ และได้รับ “เงินต้น” คืนเมื่อครบกำหนดอายุตราสารนั่นเอง
กองทุนตราสารหนี้ เหมาะกับใคร ?
กองทุนตราสารหนี้ เหมาะกับใคร ?
1. ลงทุนได้ทั้งระยะสั้น ระยะยาว
2. สร้างผลตอบแทนแน่นอน
3. ต้องการรักษาเงินต้น
4. หาที่พักเงิน กระจายเสี่ยงพอร์ตลงทุน
โดยรวมแล้วจะเห็นว่ากองทุนตราสารหนี้นั้นเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก และไม่คาดหวังผลตอบแทนที่หวือหวา แต่แน่นอน สม่ำเสมอ
กองทุนตราสารหนี้เสี่ยงแค่ไหน ?
ความเสี่ยงของกองทุนตราสารหนี้จะอยู่ที่ระดับ 3 – 4 นั่นคือ เสี่ยงน้อยถึงปานกลาง ซึ่งกองทุนตราสารหนี้แต่ละประเภทก็จะมีความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป
เช่น หากไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ ก็จะมีความเสี่ยงต่ำมาก และจะมีความเสี่ยงเพิ่มหากไปลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน แต่ผลตอบแทนก็จะสูงขึ้นด้วย
แม้กองทุนตราสารหนี้จะเสี่ยงน้อยแต่ก็ขาดทุนได้ถ้า…
1. การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
เช่น ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลโดยตรงต่อกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว
ยกตัวอย่าง ผู้จัดการกองทุนเลือกนำเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เท่ากับว่าเราล็อกผลตอบแทนไว้ที่ 2% เป็นเวลา 5 ปี
แต่เกิดสมมุตว่าอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้นเป็น 3% ก็เท่ากับว่าเราหมดโอกาสที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่านั่นเอง
2. ตราสารหนี้ที่ลงทุนถูกปรับลด Credit Rating
Credit Rating จะเป็นสิ่งที่บอกว่าตราสารหนี้นั้นๆ มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้มากน้อยเพียงใด ยิ่งอันดับเครดิตสูง ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็ยิ่งต่ำ
โดย Credit Rating จะถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ Investment Grade หรือ กลุ่มน่าลงทุน (AAA ถึง BBB) และ Speculative Grade หรือกลุ่มเก็งกำไร (BB ลงไปจนถึง D)
3. ความกังวลของตลาดเรื่องผิดนัดชำระหนี้
ข้อนี้จะต่อเนื่องจาก Credit Rating คือ หากตราสารหนี้ที่กองทุนเราถืออยู่ถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ ก็จะส่งผลให้ตลาดกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ได้ ซึ่งความกังวลนี้ ยังมีสาเหตุจากเรื่องอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น
ก่อนซื้อกองทุนตราสารหนี้ ให้ได้ดีต้องดูอะไรบ้าง
1. แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย
ถ้าแนวโน้มเป็นขาขึ้น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะมีโอกาสดีกว่า
กลับกันหากเป็นขาลง ก็จะส่งผลดีต่อกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว
2. Credit Rating
ต้องเช็กตราสารหนี้ในพอร์ตกองทุนให้ดีว่าเป็นระดับไหน Investmeny Grade หรือ Speculative Grade ซึ่งหมายถึงระดับความเสี่ยงในการลงทุนของเรา
3. เปรียบเทียบกับ Benchmark
เราสามารถนำดัชนีชี้วัดต่างๆ มาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่ง Index ที่มักถูกนำมาใช้ก็อย่างเช่น Government Bond Index รวมถึงเทียบกับกองทุนอื่นที่มีนโยบายคล้ายคลึงกัน หรือสินทรัพย์ลงทุนอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงเท่าๆ กัน เช่น เงินฝากประจำ เป็นต้น
สุดท้ายนี้ FinSpace จึงได้รวบรวม 5 อันดับกองทุนตราสารหนี้ ผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปีโดดเด่น (ณ เดือนเม.ย. 63) มาไว้เป็นตัวเลือกลงทุนของทุกคนในช่วงนี้
ชื่อกองทุน | บลจ | ผลตอบแทน % |
USHY | UOBAM | 4.53 |
ABEHB | ASI | 4.12 |
SCBEMBOND | SCBAM | 3.56 |
KT-WCORP | KTAM | 2.97 |
ABFTH | KASSET | 2.96 |
ซึ่งการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ในตอนนี้ยังสามารถทำได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้าน เพื่อรับมือกับความผันผวนนี้
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
อ่านอะไรต่อดี…