ส่องหุ้นร้านหนังสือ ในยุคที่สื่อออนไลน์ครองโลก
หลายคนคงเคยได้ยินว่า “ร้านหนังสือกำลังจะตาย” เพราะสื่อออนไลน์กลายเป็นทางเลือกใหม่ของเข้าถึงความรู้
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านซีเอ็ดปิดตัวไปเกือบครึ่ง และใน 4 ปี ร้านนายอินทร์ก็หายไปเกือบ 1 ใน 4 ข้อมูลตรงนี้น่าจะชี้ให้เราได้เห็นอะไรบางอย่าง
แต่อีกด้านนึง ธุรกิจหนังสือก็ได้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ต เพราะทุกวันนี้โลกออนไลน์คือช่องทางขายอันดับหนึ่ง โดยสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่ายอดขายเกือบครึ่งจะมาจากช่องทางนี้
เมื่อในด้านหนึ่งออนไลน์คือวิกฤติ และเมื่อมองอีกด้านก็กลับเป็นโอกาส วันนี้ FinSpace จะพาลูกเพจทุกคนไปเจาะลึกหุ้นของเชนร้านหนังสือ 2 เจ้า คือ SE-ED และนายอินทร์ เพื่อทำความรู้จักธุรกิจร้านหนังสือในยุคสื่อออนไลน์ครองโลกให้มากขึ้น และไขปริศนาว่าร้านหนังสือกำลังเจอขาลงจริงหรือไม่?
SE-ED ร้านหนังสือที่มีสาขามากที่สุด
ย้อนกลับไป 10 ปีก่อน SE-ED มีสาขากว่า 462 สาขาทั่วประเทศ แต่ทุกวันนี้สาขาของ SE-ED หายไปกว่า 200 แห่ง จนตอนนี้เหลือแค่ 246 สาขา ในปี 2565
ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์เป็นธุรกิจของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ SE-ED โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ 870 ล้านบาท ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
ถามว่าช่วงที่ผ่านมา SE-ED ได้รับผลกระทบแค่ไหน ถ้าเราลองมาเจาะดูกำไรของบริษัทย้อนหลัง 3 ปี ก็จะเห็นภาพนี้ได้ชัด
- ปี 2563 รายได้ 2,118 ล้านบาท ขาดทุน 33.1 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 1,817 ล้านบาท ขาดทุน 57.1 ล้านบาท
- ปี 2565 (9 เดือนแรก) รายได้ 1,568 ล้านบาท กำไร 2.9 ล้านบาท
พูดง่ายๆ คือก่อนหน้านี้บริษัทขาดทุนไป 2 ปีติดต่อกัน และในปีล่าสุด แม้บริษัทจะสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ แต่อัตรากำไรก็ถือว่าต่ำมาก
บริษัทระบุในการแถลงผลประกอบการล่าสุดว่าจะมีการใช้กลยุทธ์ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุมค่าใช้จ่ายทุกมิติ (ซึ่งอาจหมายถึงการปิดสาขาเพิ่มเติม) ลดปริมาณการสั่งซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับยอดขายมากขึ้น ไปจนถึงลดพื้นที่สำนักงานลง 1 ใน 3
นอกจากนี้ บริษัทยังบอกอีกว่าจะพยายามเติบโตด้วยธุรกิจที่เข้ากับบริบทสื่อยุคใหม่ เช่น การใช้ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มรายได้ด้วยธุรกิจดิจิทัล
AMARIN เจ้าของร้านนายอินทร์ ที่เป็นมากกว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์
ร้านนายอินทร์เป็นธุรกิจจัดจำหน่ายภายใต้ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อย่อหุ้น AMARIN โดยมีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 7,038 ล้านบาท ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
ด้วยความที่อมรินทร์มีธุรกิจในมือหลากหลาย เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ อีเวนต์ สถานีโทรทัศน์ และร้านหนังสือ ทำให้ภาพต่างออกไปจากกรณีของซีเอ็ดเล็กน้อย เช่น กำไรยังเติบโตได้ และอัตรากำไรที่สูงกว่า แต่ถ้าดูเฉพาะร้านหนังสือนายอินทร์ก็ถือว่าถูกกระทบไม่ต่างกัน
คือ จากปี 2561 มีสาขาทั้งสิ้น 145 สาขา มาวันนี้ หน้าร้านหายไปเกือบ 1 ใน 4 เหลือแค่ 109 ร้านเท่านั้น
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านอมรินทร์มีกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญคือมีอัตรากำไรสูงกว่าซีเอ็ด
- ปี 2562 รายได้ 3,268 ล้านบาท กำไร 167.8 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 2,937 ล้านบาท กำไร 170.7 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 2,961 ล้านบาท กำไร 313.1 ล้านบาท
- ปี 2565 (9 เดือนแรก) รายได้ 3,070 ล้านบาท กำไร 378.3 ล้านบาท
สาเหตุสำคัญคืออมรินทร์มีธุรกิจหลายอย่าง โดยในปี 2565 ธุรกิจที่ทำรายได้ได้ดีมี 3 อย่าง คือ งานพิมพ์ หนังสือ (รายได้โต 96.3%) มีเดียและอีเวนต์ เช่น งานบ้านและสวนแฟร์ งานอมรินทร์ เบบี้ แอนด์ คิดส์ แฟร์ (โต 132.4%) และ สื่อทีวีดิจิทัล (โต 4.4%)
*อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566
หมายเหตุ : บทความนี้ใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้เจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ที่มา
- https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/SE-ED/financial-statement/company-highlights
- https://www.set.or.th/th/market/product/stock/quote/AMARIN/financial-statement/company-highlights
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W