เลือกเปลี่ยนภาษีเป็นเงินเกษียณ กับ RMF กองทุนเด็ด ธีมลงทุนต่างประเทศ จาก บลจ.กรุงศรี
Hyperloop คืออะไร ? จากแนวคิดของ Elon Musk
ในช่วงที่ผ่านมานี้ อาจได้ยินข่าวการทดสอบ Hyperloop ผ่านหูมาไม่มากก็น้อย ซึ่งเป็นการทดสอบที่มีผู้โดยสารจริงเป็นครั้งแรกของโลก โดย Virgin Hyperloop (เป็นบริษัทในเครือ Virgin Group นั่นเอง)
การทดสอบครั้งนี้มีผู้โดยสาร 2 คน ด้วยความเร็วที่ 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อทดสอบด้านความปลอดภัย หลังจากที่เคยทดสอบแบบไร้ผู้โดยสารมามากกว่า 400 ครั้ง
เพราะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา Hyperloop ถือเป็นอีกหนึ่งหัวข้อด้านเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย ในฐานะที่เป็นแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นโดย Elon Musk จนกลายมาเป็นการพัฒนาขึ้นมาจริงจากบริษัทต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Hyperloop กันแบบคร่าวๆ ตามแบบฉบับ FinSpace ว่ามีการเริ่มต้นอย่างไร พัฒนาอะไร และอื่นๆ อีกมากมาย ว่าแล้วไปอ่านกันต่อเลย…
= ย้อนกลับไปทำความรู้จักกับ Hyperloop =
เชี่อว่าหลายๆ คนอาจนึกว่า Hyperloop นั้นมีเจ้าของเป็นเจ้าพ่อด้านเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง Elon Musk ซึ่งเอาจริงๆ แล้วก็อาจจะถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะอันที่จริงแล้ว Elon Musk เป็นเพียงแค่ผู้เสนอแนวคิดนี้เท่านั้น
หน้าที่การนำไปต่อยอดเป็นของจริงจึงเป็นของบริษัทต่างๆ ที่พัฒนา Hyperloop ของตัวเองทั้งสิ้น แต่ด้วยเหตุใด ? Elon Musk ถึงออกมาเผยแพร่แนวคิดนี้ ?
นั้นก็เพราะว่าในช่วงปี 2012 และ 2013 โครงการรถไฟความเร็วสูงในมลรัฐแคลิฟอร์เนียนามว่า “California High-Speed Rail” ได้รับการอนุมัติให้พัฒนาจริง จึงทำให้ Elon เองออกอาการผิดหวังพอสมควร เพราะในมุมมองของเขานั้น มลรัฐแคลิฟอร์เนียถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งเป็นศูนย์รวมบริษัทไอทีอย่าง Silicon Valley หรือศูนย์ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น Jet Propulsion Laboratory ของ NASA ก็ตั้งอยู่ที่นี้ แต่ทำไมถึงดันมาอนุมัติให้ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ค่าก่อสร้างแสนแพงและช้าไม่คุ้มทุนเอาซะงั้น ?
จึงทำให้ในปี 2013 Elon ออกแนวคิดต่อยอดเพื่อมองหารูปแบบการเดินทางสาธารณะที่นอกเหนือจากรถยนต์หรือเครื่องบิน และยังต้องดีกว่าด้วย เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการเดินทางด้วยรถไฟ แต่ก็ยังถือว่าช้ากว่ามาก แถมแพงไม่คุ้มทุนอีกด้วย โดยได้ออกมากำหนดเกณฑ์ว่ารูปแบบการเดินทางสาธารณะใหม่นี้จะต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ปลอดภัยกว่า
- เร็วกว่า
- ราคาถูกกว่า
- สะดวกสบายกว่า
- สภาพอากาศไม่มีผลต่อการใช้งาน
- ดูแลระบบเองได้ในระยะยาว
- ปลอดภัยต่อแผ่นดินไหว
- เป็นมิตรต่อผู้อื่นตลอดเส้นทาง
Elon Musk จึงออกไอเดียว่าระบบการเดินทางสาธารณะที่เขากำลังร่างแนวคิดอยู่อย่าง “Hyperloop” นั้นจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับความต้องการก่อสร้างระบบเดินทางสาธารณะในระยะไม่เกิน 1500 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นการเดินทางผ่านท่อสุญญากาศ โดยมีพาหนะบรรจุผู้โดยสารที่เรียกว่า Pod หรือ Capsule เป็นตัวกลาง
นอกจากนี้ Elon ยังเสริมอีกด้วยว่า Hyperloop จะทำให้การโดยสารในระดับความเร็วเหนือเสียงเป็นเรื่องที่ง่ายและไม่แพง เมื่อเทียบกับเครื่องบินความเสียงเหนือเสียงในอดีตที่เต็มไปด้วยปัญหาทางเทคนิคและความซับซ้อนอีกด้วย
แม้ว่าจะเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์และเป็นแนวทางที่นำไปต่อยอดได้จริง แต่อย่างที่ทราบกันว่า Elon Musk มีโปรเจคต์และบริษัทในมือที่ต้องดูแลจนล้นมือ เขาจึงเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง Hyperloop ออกมาให้แก่สาธารณะทั้งหมด เพื่อให้ใครก็ตามที่สนใจนำไปพัฒนาต่อเอง โดย Elon ได้ช่วยเพียงแค่จัดแข่งขันสร้าง Hyperloop เพื่อผลักดันการพัฒนาเท่านั้น
= ต่อยอดแนวคิด Hyperloop =
หลังจากที่ Elon Musk ได้ออกมาเผยแพร่แนวคิดของเขาแก่สาธารณะได้ไม่นานหลายๆ คนสนใจแนวคิดการเดินทางรูปแบบนี้อยู่ไม่น้อย ส่งผลให้มีกลุ่มนักพัฒนาต่างๆ ได้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทเพื่อพัฒนา Hyperloop ของตัวเองอย่างแพร่หลาย ขอยกตัวอย่างมาคร่าวๆ ให้เห็นภาพว่าในสังเวียน Hyperloop นี้ มีใครบ้างที่แข่งขันกันอยู่
- Hyperloop Transportation Technologies หรือ HyperloopTT เป็นบริษัทแรกเริ่มที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2013 ปีเดียวหลังจากที่ Elon Musk ออกมาเผยแพร่แนวคิด และ HyperloopTT มีทีมงานวิศวะกรและผู้เชี่ยวชาญทำงานร่วมกันมากกว่า 800 คนในปัจจุบัน
- Virgin Hyperloop One หรือที่รู้จักกันในชื่อก่อนว่า Hyperloop One เป็นอีกบริษัทที่พัฒนา Hyperloop อยู่ โดยก่อตั้งขึ้นในปี 2014 ก่อนที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Virgin Group ของมหาเศรษฐี Richard Branson ล่าสุดได้ทดสอบ Hyperloop กับผู้โดยสายจริงแล้ว
- TransPod บริษัทพัฒนา Hyperloop อีกเจ้าจากประเทศแคนาดา ที่คนไทยหลายๆ คนอาจคุ้นชื่อจากการที่เป็นบริษัทที่คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจได้ว่าจ้างให้ทำการทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี Hyperloop ในประเทศไทย
= แนวคิดเรื่อง Hyperloop ในไทย =
สำหรับกระแสสังคมไทยแล้ว Hyperloop กลายเป็นเรื่องที่ฮือฮาอีกครั้งในประมาณปีที่แล้วก่อนเลือกตั้ง โดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ได้ออกมาเผยแพร่ว่าเขาเองได้ว่าจ้างให้บริษัท TransPod ซึ่งเป็นบริษัทที่กำลังพัฒนา Hyperloop ตามที่ได้ระบุไว้ด้านบน ให้ศึกษาความเป็นไปได้ในของ Hyperloop ในไทย ในเส้นทางเชียงใหม่-กรุงเทพ-ภูเก็ต
ซึ่งคุณธนาธรได้กล่าวไว้ว่า Hyperloop จะเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ใหญ่ในการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่สามารถช่วยยกระดับประเทศผ่านการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ และหนีออกจากกับดับประเทศกำลังพัฒนาที่ประเทศไทยติดหล่มมานาน โดยหลังที่คุณธนาธรเผยแพร่แนวทางออกไป ก็มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยถึงความเป็นไปได้ กลายเป็นอีกประเด็นเผ็ดร้อนในช่วงที่ผ่านมาอยู่ไม่น้อย
= สรุป =
เรียกได้ว่า Hyperloop เป็นอีกแนวคิดด้านการเดินทางที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะ FinSpace ก็มองว่าหากสามารถพัฒนาได้จนถึงระดับเชิงพาณิชย์แล้ว ก็อาจ Disrupt รูปแบบการเดินทางอื่นพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินในระยะสั้นหรือรถไฟ แถมในปัจจุบันก็เริ่มเข้าใกล้เข้าเป็นจริงอยู่เรื่อยๆ แล้ว ไม่แน่ว่าในอีก 5 ปี เราอาจได้เห็นคนเดินทางด้วย Hyperloop เป็นปกติก็เป็นได้ ถ้าถึงตอนนั้นเราเองก็คงไม่พลาดลองใช้งานด้วยตัวเองอย่างแน่นอน
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb