เด็กจบใหม่ First jobber ลงทุนอะไรดี?
ปัจจุบันมีสินทรัพย์ลงทุนให้เราเลือกลงทุนมากมายหลายประเภท เด็กจบใหม่ เพิ่งเริ่มทำงานแบบเรา ๆ ก็อยากเริ่มลงทุนเหมือนกัน แต่จะลงทุนอะไรดีล่ะ?
วันนี้ FinSpace X DekFinance ขอพาเด็กจบใหม่อยากลงทุนทุกคนมาทำความรู้จักกับสินทรัพย์ลงทุน 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ หุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก พร้อมนำไอเดียการจัดพอร์ตฉบับเด็กจบใหม่มาฝากกันด้วย ติดตามไปพร้อมกันได้เลย!
รู้จักเครื่องมือการลงทุนก่อนเริ่มลงทุน
ตราสารหนี้
ตราสารหนี้ (Bond) คือตราสารที่ผู้ถือจะมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” และผู้ออกมีฐานะเป็น “ลูกหนี้” ผลตอบแทนที่ได้รับจากตราสารหนี้จะอยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ย โดยผู้ถือตราสารหนี้จะได้รับทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นคืนในวันครบกำหนดไถ่ถอน ตราสารหนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ตามประเภทผู้ออก ได้แก่
- ตราสารหนี้ภาครัฐ หรือ พันธบัตร (Government Bond) คือ ตราสารหนี้ที่ภาครัฐเป็นผู้ออก เช่น กระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย
- ตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ หุ้นกู้ (Corporate Bond) คือ ตราสารหนี้ที่บริษัทเอกชนต่าง ๆ เป็นผู้ออกเพื่อระดมทุน
ทั้งนี้พันธบัตรรัฐบาลจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้นกู้ เนื่องจากออกโดยรัฐบาลที่มีความมั่นคง ในขณะที่ผลตอบแทนและความเสี่ยงของหุ้นกู้จะขึ้นอยู่กับการจัดอันดับความหน้าเชื่อถือ (Credit Rating) โดยมีตั้งแต่ระดับ AAA ไปจนถึงระดับ D เจ้าหนี้หรือผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นเงินต้นที่เพิ่มขึ้นหรือการปันผลขึ้นอยู่กับเงื่อนไขผลตอบแทน โดยทั่วไปแล้ว ตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงจะมีความผันผวนต่ำ
หุ้น
หุ้น (Stock) คือตราสารทุนที่ออกโดยบริษัทแก่ผู้ถือเพื่อเป็นการระดมทุน โดยผู้ถือหุ้นจะมีสถานะเป็น “เจ้าของกิจการ” จึงมีสิทธิ์ในทรัพย์สินและรายได้ของกิจการ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนในหุ้นจะอยู่ในรูปแบบของส่วนต่างราคา (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend Yield) ในกรณีที่บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผล และยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การจองซื้อหุ้นออกใหม่ การประชุมผู้ถือหุ้น ฯลฯ หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่สามารถสร้างคุณค่าได้ในระยะยาว จากการดำเนินกิจการให้เกิดเป็นส่วนต่างกำไร และนำกำไรสุทธิไปลงทุนหรือดำเนินกิจการต่อ และกำไรส่วนหนึ่งสามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อีกด้วย เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน ทำให้ราคาหุ้นมีความผันผวน
สินทรัพย์ทางเลือก
สินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Investment) คือ สินทรัพย์ที่นอกเหนือจากสินทรัพย์ดั้งเดิม อย่าง ตราสารหนี้ และหุ้น เป็นสินทรัพย์ที่มีเงื่อนไขผลตอบแทนเฉพาะตัว เช่น
- ทองคำ ที่คนให้การยอมรับว่าเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่า เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือเครื่องประดับ มีการเคลื่อนไหวของราคาตามอุปสงค์และอุปทานของผู้ซื้อผู้ขาย
- ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) ผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคารพาณิชย์ โรงแรม เป็นต้น
กองทุนรวม
กองทุนรวม (Mutual Fund) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือลงทุนที่เหมาะกับเด็กจบใหม่ ซึ่งอาจจะยังเป็นมือใหม่ในโลกการลงทุนอยู่ เพราะจุดเด่นของกองทุนรวมคือการกระจายความเสี่ยง โดยการลงทุนเป็นกลุ่มสินทรัพย์ ไม่จำกัดอยู่แค่หุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยกองทุนรวมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ กองทุนมีนโยลายลงทุนตามสัดส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จัดเรียงตามมูลค่าตลาด หรือ กองทุนที่มีบริหารเชิงรุกแบบมีผู้จัดการกองทุนคอยบริหารจัดการเงินที่เรานำไปลงทุน กองทุนมีหลากหลายประเภทของสินทรัพย์ให้เราเลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมทองคำ ฯลฯ หรือใครอยากกระจายลงทุนไปยังหุ้นต่างประเทศ ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศได้เช่นกัน โดยกองทุนแต่ละประเภทก็มีความเสี่ยงและผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป ดังนั้นควรศึกษานโยบายต่าง ๆ ของกองทุนจากหนังสือชี้ชวน (Fund Factsheet) ก่อนลงทุนเสมอ และเลือกลงทุนในกองทุนที่เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนและความเสี่ยงที่เรายอมรับได้
รู้จัก Asset Allocation
การจัดสินทรัพย์ลงทุนหรือ Asset Allocation เป็นหลักในการบริหารพอร์ตการลงทุนสมัยใหม่ เริ่มจากแนวคิดที่ว่า ไม่มีสินทรัพย์ใดที่จะให้ผลตอบแทนดีหรือแย่ได้ตลอดไป แต่ละสินทรัพย์มีโอกาสให้ผลตอบแทนมากน้อยต่างกันตามแต่ละวัฏจักรเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดในแต่ละช่วง เมื่อนำสินทรัพย์ต่าง ๆ มารวมกัน ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยง โดยหากพอร์ตการลงทุนของเรามีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงอย่างเช่นหุ้นมาก ก็จะทำให้พอร์ตมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ผันผวนมากขึ้น แต่สินทรัพย์ประเภทหุ้นสามารถให้คุณค่าในระยะยาวได้มากขึ้น การนำหุ้นมาลงทุนร่วมกับตราสารหนี้ที่มีความผันผวนน้อยกว่าจะทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ลงทุนได้อย่างสบายใจมากขึ้น เป็นต้น
ไอเดียจัดพอร์ตฉบับเด็กจบใหม่
สำหรับเด็กจบใหม่ ไม่มีอะไรดีไปกว่า การที่ได้ลองผิดลองถูก ลงทุนในสิ่งที่สนใจ หรือ จะใช้เวลาศึกษาให้เต็มที่ก่อนที่จะลงมือลงทุนจริงก็ย่อมทำได้ และหากการลงทุนผิดพลาด ก็ย่อมมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้
สำหรับเด็กจบใหม่ เป้าหมายแรกควรจะเป็นการเก็บเงินเพื่อการเกษียณหรืออิสรภาพทางการเงินได้ โดยเครื่องมือที่สำคัญในการพิชิตเป้าหมาย คือ พอร์ตการลงทุนแบบ Asset Allocation เนื่องจากเด็กจบใหม่รับความเสี่ยงได้สูงกว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้น การจัดพอร์ตจึงเริ่มต้นจากสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตราสารทุน (หุ้น) มากกว่าสัดส่วนของตราสารหนี้ได้ แต่สัดส่วนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจในการลงทุน และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ คือมีบางช่วงเวลาที่อาจจะมีผลตอบแทนติดลบ ทำให้ไม่สบายใจได้ เป็นต้น
สัดส่วนที่แนะนำสำหรับเด็กจบใหม่
สัดส่วนตราสารทุน:ตราสารหนี้ 50/50
เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่มีความรู้ในการลงทุนเลย แต่อยากศึกษาไปด้วยและลงทุนไปด้วย เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้เงื่อนไขผลตอบแทนของสินทรัพย์ตราสารทุนและตราสารหนี้ ศึกษาเลือกสินทรัพย์ที่ชอบเข้าพอร์ต
สัดส่วนตราสารทุน:ตราสารหนี้ 60/40
เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นในการลงทุนในช่วง 1-2 ปีแรก เริ่มเข้าใจว่าตราสารทุนและตราสารหนี้มีเงื่อนไขผลตอบแทน ความผันผวนเป็นอย่างไร เนื่องจากสัดส่วนตราสารทุนที่ไม่มากจนเกินไป จะทำให้นักลงทุนมือใหม่ไม่ตะหนกตกใจกับผลตอบแทนจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ และติดตามผลการลงทุน ภาวะเศรษฐกิจไปพร้อม ๆกันได้อย่างมีความสุข
สัดส่วนตราสารทุน:ตราสารหนี้ 70/30
เหมาะสำหรับผู้ผ่านการลงทุนมาแล้ว 2-3 ปีแรก และยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น เข้าใจตลาดมากขึ้น ติดตามผลการลงทุนเป็นบางครั้ง เช่น อาทิตย์ละครั้ง
สัดส่วนตราสารทุน:ตราสารหนี้ 80/20
เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงมาก ผ่านการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ศึกษาสินทรัพย์ที่ตัวเองลงทุนจนเข้าใจและปล่อยวางไปกับการลงทุนได้ ติดตามผลการลงทุนเป็นรายเดือน หรือน้อยกว่าได้
หมายเหตุ: นักลงทุนแต่ละคนรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นเริ่มด้วยจำนวนเงินทุนน้อย ๆ ก่อนจะดีกว่านะ
เมื่อเข้าใจเรื่อง Asset Allocation แล้ว เราเลือกสินทรัพย์แบบไหนใส่พอร์ตดี?
สำหรับตราสารหนี้ เราขอแนะนำเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นในประเทศ ซึ่งไม่ผันผวนกับการขึ้นลงของดอกเบี้ยในบ้านเรามากนัก
สำหรับตราสารทุนเราขอแนะนำเป็นกองทุนรวมลงทุนกระจายไปหลายตลาดทั่วโลก เช่น USA มีดัชนีหุ้นใหญ่ 500 ตัวแรก (S&P500) ยุโรปมีดัชนีหุ้นใหญ่ 600 ตัวแรก (Euro Stoxx600) ดัชนีหุ้นไทย มีหุ้นใหญ่ 50 ตัวแรก (SET50) เป็นต้น มีข้อมูลให้ศึกษามากมายก่อนเลือกลงทุน
ตลาดหุ้นประเทศไหนดี?
ตลาดหุ้นมีวัฏจักรทั้งขาขึ้นและขาลง เมื่อตลาดหนึ่งดี อีกตลาดอาจจะอยู่ในช่วงผลตอบแทนขาลงก็เป็นได้ ดังนั้น เราจึงต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าตลาดหุ้นไหนมีหุ้นที่มีสินค้าแบรนด์ที่แข็งแกร่ง สินค้าเป็นที่ต้องการไปทั่วโลก มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ สถานะทางการเงินแข็งแรง แน่นอนคงหนีไม่พ้นมหาอำนาจอย่าง USA และ Europe มีตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) มีระบบกฏเกณฑ์ที่เข้มงวด มีเสถียรภาพ ที่เราอาจจะเลือกติดพอร์ตไว้มากหน่อย และตามด้วยตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น จีน อินเดีย ไทย และตลาดหุ้นระดับเริ่มต้น (Frontier Market) เช่น เวียดนาม เป็นสัดส่วนรองลงมา
ยกตัวอย่างการกระจายลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก
สัดส่วนที่ 1
USA 40%
EU 20%
EM (China, India, Thailand) 30%
VN 10%
สัดส่วนที่ 2
USA 30%
EU 30%
EM (China, India, Thailand) 30%
VN 10%
สัดส่วนที่ 3
USA 30%
EU 30%
EM (China, India, Thailand) 5%
VN 5%
สุดท้ายเราขอแนะนำกลยุทธ์ DCA หรือ Dollar Cost Averaging หรือกลยุทธ์เฉลี่ยต้นทุน สำหรับคนที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดเลย ขอให้ลงทุนเป็นประจำ รายสัปดาห์ หรือรายเดือน ลงทุนด้วยเงินก้อนเล็ก ๆ เท่า ๆ กัน แต่เป็นประจำ จะทำให้ต้นทุนของเราอยู่ไม่สูงและไม่ต่ำจนเกินไป และตลาดหุ้นมักมีช่วงเวลาที่เติบโตมากกว่าช่วงที่แย่ ดังนั้นเงินทุนของเราระยะยาวก็จะเติบโตได้โดยการเพิ่มเงินทุนทีละน้อย นี่คือจุดเริ่มต้นของการลงทุนแบบอัตโนมัติ ที่ทำให้เงินงอกเงย และมีเวลาไปทำในสิ่งที่ชอบมากขึ้นอีกด้วย
FinSpace x DekFinance
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W