FinSpace

ย้อนบทเรียน Japan Airlines สายการบินแห่งชาติที่เคยล้ม…แต่ลุกแล้ว

Japan Airlines

ย้อนบทเรียน Japan Airlines

ในปี 2010 หรือย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของธุรกิจสายการบิน

นั่นคือการที่สายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น “Japan Airlines” (JAL) เจอภาวะขาดทุนหนักจนล้มละลาย จากจำนวนหนี้ที่มากถึง 700,000 ล้านบาท จนต้องออกจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นไป

Advertisements

Japan Airlines ตัดสินใจปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ และได้ทำสิ่งที่เซอร์ไพร์สอย่างมากในตอนนั้น คือ สามารถฟื้นธุรกิจกลับมามีกำไรถึง 80,000 ล้านบาทได้ภายใน 1 ปีเท่านั้น

จริงอยู่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงินอัดฉีดกว่า 350,000 ล้านบาทจากรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อช่วยแก้วิกฤต แต่เงินสนับสนุนอย่างเดียวคงไม่พอแน่ๆ หากขาดวิธีการที่ดี

คำถาม คือ อะไรเป็นเบื้องหลังที่ทำให้สายการบินที่เคย “ล้ม” สามารถ “ลุก” กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ลองมาถอดรหัสความสำเร็จนี้กัน
..

 ผู้นำและทีมมองเป้าหมายเดียวกัน

Kazuo Inamori ถูกมอบหมายให้เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ ซึ่งแม้เขาจะมีประสบการณ์ในการบริการธุรกิจมามากมาย แต่ในเรื่องสายการบินแล้ว Inamori ยอมรับตรงๆ ว่าเขาไม่ได้มีความรู้มากนัก

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Inamori ทำเป็นอย่างแรก คือ การทำให้ทุกคนในองค์กรเห็นภาพเหมือนกัน และโฟกัสไปที่เป้าหมายเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดบริหารระดับสูง หรือพนักงานระดับล่าง

ซึ่งในเดือนแรกเขาเรียกคุยกับพนักงานมากถึง 17 ครั้ง ด้วยการเปิดโอกาสให้พนักงานพูดถึงปัญหาที่เจอก่อน จากนั้นหัวหน้าค่อยพยายามช่วยหาทางแก้ไขไปพร้อมๆ กัน

สิ่งนี้ทำให้ทุกคนค่อยๆ ซึบซับวิธีการทำงานแบบใหม่ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับงาน และอยากทุ่มเทเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย

มีประโยคนึงที่ Inamori มักพูดในที่ประชุมว่า “นี่เป็นบริษัทของพวกคุณ และเป้าหมายของบริษัทก็คือทำให้ทุกคนมีความสุข”
..

หลักการทำงานแบบ “อะมีบา” (Amoeba)

อะมีบา เป็นวิธีบริหารโดยแบ่งหน่วยงานภายในบริษัทออกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยให้แต่ละทีมวางระบบงานเป็นของตัวเอง และเน้นให้องค์กรมีลำดับขั้นน้อยที่สุด

เพราะก่อนหน้านี้ JAL มีปัญหาสำคัญ คือ “เป็นเอกชนที่ทำงานเหมือนราชการ” เชื่องช้า ขั้นตอนเยอะ เนื่องจากมีลำดับขั้นมากเกินความจำเป็น

แต่เมื่อนำระบบอะมีบามาปรับใช้ JAL แบ่งทีมออกเป็นถึง 670 ทีม ที่สำคัญทุกทีมต้องทำให้ทีมของตัวเองมีกำไร

Advertisements

สิ่งนี้ทำให้ทุกคนต้องแข่งขันกัน และงัดความสามารถออกมาโชว์เต็มที่ อีกทั้งบริษัทก็เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าพาร์ทไหนของธุรกิจที่จำเป็น และพาร์ทไหนเป็นภาระทำให้ขาดทุน

จนนำสู่แผนปรับโครงสร้างองค์กรที่มีประสิทธิภาพนั่นเอง
..

ทั้งหมดนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรหัสความสำเร็จเท่านั้น เพราะความจริงแล้วกว่าจะธุรกิจหนึ่งจะฟื้นกลับมาได้รวดเร็วแบบนี้ มีส่วนประกอบอื่นๆ มากมายที่เราไม่ได้พูดถึง

ทั้งนี้ สายการบิน JAL กลับมาเข้าตลาดหุ้นอีกครั้งตั้งแต่ปี 2012 โดยผลประกอบการล่าสุดใน 3 ปีย้อนหลัง เป็นดังนี้

– ปี 2018 รายได้ 1.38 ล้านล้านเยน กำไร 1.4 แสนล้านเยน

– ปี 2019 รายได้ 1.49 ล้านล้านเยน กำไร 1.5 แสนล้านเยน

Advertisements

– ปี 2020 รายได้ 1.41 ล้านล้านเยน กำไร 5 หมื่นล้านเยน
..

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ JAL ก็ต้องเจอกับปัญหาวิกฤต COVID-19 ไม่ต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อรายได้ที่หายไปเต็มๆ และคงต้องจับตาดูกันว่าด้วยฝีมือของทีมบริหารแล้ว จะสามารถพาสายการบินแห่งนี้ผ่านวิกฤตได้อีกครั้งไหม ?

สุดท้ายขอจบตรงที่คำพูดหนึ่งของ Kazuo Inamori ที่เขียนไว้ในคู่มือปรัชญาการทำงานของ JAL ว่า

“คนที่ประสบความสำเร็จกับคนล้มเหลว ต่างกันแค่นิดเดียว คือ เมื่อพบกับอุปสรรคคนประสบความสำเร็จจะอดทนสู้ต่อไป ส่วนคนที่ล้มเหวนั้น จะเพียงแค่คิดหาข้อแก้ตัวดีๆ เพื่อเลิกล้มความพยายาม”


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb

อ่านอะไรต่อดี…

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements