วางแผนการเงินให้โปร . . ด้วยปีระมิดทางการเงิน
แนะนำการลำดับความสำคัญของเงิน ด้วยปีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid)
#FSSpecialcolumnists x เด็กการเงิน ขอแนะนำการลำดับความสำคัญของเงิน ด้วยปีระมิดทางการเงิน (Financial Pyramid) เราควรดูแลความมั่งคั่ง หรือ wealth อย่างไร ? เริ่มต้นจากฐาน สร้างเป็นเส้นทางสู่ยอดปีระมิด ก่อนนำมาสร้างแผนการเงิน ซึ่งแผนการเงินที่ดี ต้องเริ่มจากรากฐานที่แข็งแรง ก่อนอื่น . .
มาทำความเข้า 6 ขั้นของปีระมิดทางการเงินกัน
1. Wealth Creation การสร้างความมั่งคั่ง
2. Cash Flow Management and Emergency Cash การจัดการสภาพคล่องและเงินฉุกเฉิน
3. Tax Planning การวางแผนภาษี
4. Wealth Protection การปกป้องความมั่งคั่ง
5. Wealth Accumulation การสะสมความมั่งคั่ง
6. Wealth Distribution การส่งต่อความมั่งคั่ง
โดย 6 ขั้นนี้ปรับปรุงจากปิระมิดทางการเงินฉบับ Classic คือ
1. Risk Management
2. Wealth Protection
3. Wealth Accumulation & Distribution
เรานำมาปรับปรุง เพื่อให้เห็นภาพ และนำไปใช้งานได้จริง
1. Wealth Creation การสร้างความมั่งคั่ง
มาจากการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นจากงานประจำหรืออาชีพเสริม โดยส่วนใหญ่ การสร้างความมั่งคั่งเกิดจากแหล่งรายได้หลักที่สม่ำเสมอ และสามารถหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่าย และเงินสะสมหรือถ้าเป็นเจ้าของกิจการ หรือ Freelance รายได้ก็จะเข้ามาจากการสร้างสินค้าและบริการ ซึ่งจะมีความไม่แน่นอน แต่สามารถวางแผนล่วงหน้าและระมัดระวังกว่างานประจำ ให้เพียงพอกับรายจ่าย และเงินสะสม ในแต่ละเดือน
แหล่งของความมั่งคั่งอีกทาง คือ Passive Income เกิดการนำเงินไปซื้อทรัพย์สินที่สามารถให้รายได้เสริม ซึ่งนับเป็นการสร้าง หรือต่อยอดความมั่งคั่งเช่นกัน
นักธุรกิจและนักลงทุน Full Time มักจะสร้าง Passive Income จากการซื้อสินทรัพย์ และไม่มีงานประจำ
2. Cash Flow Management and Emergency Cash
2.1 การบริหารเงินสภาพคล่องเมื่อมีรายได้เข้ามา เราต้องมีการจัดการสภาพคล่อง หรือเงินสดในแต่ละเดือนให้ดี มีพอสะสมไปในขั้นที่สูงขึ้นสมการที่ถูกต้องสำหรับคนที่สามารถบริหารจัดการเงินได้ดี คือ:
รายได้ – เงินสะสม = รายจ่ายหมายความว่า
ให้กำหนดเงินสะสมมาจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปเก็บออม หรือลงทุนก่อน ส่วนที่เหลือค่อยนำไปใช้จ่ายทั้งรายจ่ายจำเป็น และซื้อของที่อยากได้ ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่สามารถบริหารรายจ่ายให้เหลือพอมีเงินสะสม = เราไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งขึ้นมาได้ ตรงนี้สำคัญมาก!! ถ้าเป็นเช่นนั้น เราต้องลดรายจ่ายลง หรือ หารายได้ให้มากขึ้น โดยรายจ่ายจำเป็น คือ ปัจจัย4 / หนี้สิน / ภาษี เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจ่าย ควบคุมให้อยู่ที่ 50% ส่วนหนี้ระยะสั้นจากการผ่อนของไม่จำเป็น หรือรายจ่ายเพื่อการท่องเที่ยว ความฝันจำกัดอยู่ที่ 30% และนำ 20% ไปใช้ประโยชน์ต่อในส่วนปีระมิดที่เหลือสำหรับคนที่ยังมีรายจ่ายที่จัดการไม่ได้ หรือหนี้สินจำนวนมาก จะเข้าสู่สมการ:
รายได้ – รายจ่าย = เงินสะสมหมายความว่า
ให้จัดการกับรายจ่าย หรือหนี้สินต่างๆก่อน ซึ่งจะทำให้การสร้างความมั่งคั่งต้องพิจารณาแก้ไขให้เราคุมรายจ่ายได้ ไม่ก่อหนี้ไม่จำเป็น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือ ถ้าพอมีเวลา ต้องหารายได้เสริมให้เพียงพอ ชดเชยรายจ่าย (บางคนเลือกรัดเข็มขัด บางคนเลือกหามากขึ้น)
2.2 เงินฉุกเฉิน หลังจากมีก้อนเงินสะสมแล้ว ต้องไม่ลืมเก็บเงินก้อนฉุกเฉินไว้ ซึ่งเงินก้อนฉุกเฉินที่ควรมีถ้าเป็นมุนษย์เงินเดือน คือ 3-6 เดือน เผื่อตกงานแล้วจะไม่มีการ burn wealth หรือนำเงินเก็บที่วางแผนดีแล้วมาใช้ก่อน โดยเราแนะนำให้เก็บเงินฉุกเฉินก้อนนี้ไว้ในที่ๆมีสภาพคล่องสูง นั่นคือสามารถนำมาใช้ได้สะดวกในเวลาที่ต้องการ และสามารถสร้างผลตอบแทนได้บ้างเล็กน้อย เช่น การออมเงินผ่านบัญชีธนาคารที่เป็นเงินฝากดิจิตอล ซึ่งหลายที่ได้ดอกเบี้ยสูงถึง 1.5% ถือว่าได้มากกว่าลงทุนในกองทุนตราสารเงิน หรือตราสารหนี้บางกอง นอกจากนี้ยังมีสภาพคล่องสูงกว่าอีกด้วย
จะเห็นได้ชัดว่าจากการที่มี COVID เข้ามาในชีวิตเรา การสร้างความมั่งคั่งโดยการมีอาชีพเสริมด้วย ถือเป็นตัวเลือกที่น่านำมาพิจารณาอย่างหนึ่ง รวมไปถึงเงินฉุกเฉินนั้นจำเป็นมากๆ เพราะไม่รู้เลยว่า เราจะเสี่ยงตกงาน หรือได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน การเตรียมความพร้อมไว้ เป็นเรื่องที่ควรทำ
หลังจากพูดถึงเรื่องกันเงินฉุกเฉินแล้ว ให้กลับมาที่เงินสะสมหรือเงินที่เรากันไว้ ซึ่งเราจะนำไปพิจารณาเรื่อง Tax Planning, Wealth Protection และ Wealth Accumulation ต่อไป
3. Tax Planning
พอเรามีรายได้เข้ามาแล้ว ภาษีก็ตามมาแน่นอน เราจะต้องจัดการภาษี โดยนำเงินไปจ่ายส่วนที่ลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการมีประกันชีวิต ประกันสุขภาพต่างๆ เราจะกล่าวต่อไป (ในข้อ 4) และการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี (ในข้อ 5) โดยหัวใจสำคัญของเรื่อง Tax Planning คือ เราควรเสียภาษีให้น้อยที่สุด หรือเท่าที่จำเป็น และยังบรรลุ Wealth Protection และ Wealth Accumulationได้ นั่นก็คือ ลดหย่อนภาษี+ปกป้องความมั่งคั่งให้คนข้างหลัง และได้ลงทุน ลดหย่อนภาษี+เพิ่ม wealth ให้กับตัวเองในอนาคต
เสริม สำหรับคนที่มีงานประจำ และบริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถการจัดการภาษีโดยให้บริษัทหักเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงสุดที่ 15% นอกจากเราจะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแล้ว เรายังได้มีโอกาสสะสมเงินไว้ใช้ยามเกษียณเพิ่มขึ้น และถ้าหากกองทุนที่เรานำไปลงทุนนั้นให้ผลตอบแทนที่ดี เราก็จะยิ่งมี Wealth เพิ่มขึ้นด้วย (เป็น Wealth Accumulation)
แล้วลดหย่อนภาษีแบบไหนดีสำหรับเรา ?ตามลำดับขั้นของปิระมิด เราต้องพิจารณาปกป้องความมั่งคั่ง ก่อนที่จะสะสมความมั่งคั่ง ดังนั้นต้องพิจารณาข้อ 4 ก่อน ข้อ 5
*ถ้ามีหนี้สิน หรือภาระ ต้องปิดความเสี่ยงให้หมด และนำส่วนที่เหลือไปสะสมให้มากขึ้นผ่านการลงทุน*.
4. Wealth Protection
การปกป้องความมั่งคั่ง เป็นการสร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเราและคนรอบข้าง ทำให้ความมั่งคั่งทีเราสะสมมาถูกรักษาไว้ ไม่ต้องนำไปจ่ายให้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผน สามารถทำได้ผ่านประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เป็นการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และพาเราไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้
การทำประกันนั้นก็ควรเลือกประกันให้เหมาะสมกับตนเอง โดยให้เริ่มคิดจากว่าเรามีหนี้สินเท่าไหร่ หรือมีคนข้างหลังที่เราต้องคอยดูแลหรือไม่ ถ้าหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับเรา ใครจะเป็นผู้แบกรับหนี้สินนั้นเเทนเรา หรือคนข้างหลังจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเรา ในเคสเเบบนี้จะเห็นว่าประกันชีวิตจำเป็นมาก
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ยังต้องมีภาระ ให้คนข้างหลังดูแลหรือไม่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาขั้นต่ำบุตร หรือรายจ่ายในบ้านที่หายไป หากเราเป็นหนึ่งในเสาหลักของครอบครัว
ลองคิดออกมาว่าถ้าหากเราเป็นอะไรไป เราต้องเตรียมเงินสำหรับหนี้ก้อนที่เรามีอยู่ หรือให้คนข้างหลังได้มีเงินใช้เท่าไร เช่น ถ้ามีหนี้และคนข้างหลังจะอยู่สบายก็ต่อเมื่อต้องมีเงินก้อน 5 ล้านบาทให้เขา (เรียกว่าทุนประกัน หรือความคุ้มครอง) เรามีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกัน เพื่อให้ความคุ้มครองยังคงอยู่
ดังนั้นในเคสนี้ก็อาจต้องทำทุนหรือเบี้ยประกันชีวิตให้ได้เท่ากับความคุ้มครองที่ได้ที่จำเป็น และประกันบางแบบ สามารถคืนเงินบางส่วนให้กับผู้ทำประกันเมื่อครบกำหนด
หลังจากที่เราทำประกันชีวิตเพื่อปกป้องความเสี่ยงให้คนข้างหลังเราแล้ว ถ้ายังมีเงินเหลือก็อย่าลืมนึกถึงประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงให้กับตัวเองด้วย และต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสวัสดิการที่มี ทั้งนี้ส่วนประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรงนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับประกันชีวิตได้ด้วยรวม 100,000 บาท
5. Wealth Accumulation
การสะสมความมั่งคั่งนั้นเกิดหลังจากที่พิจารณาเรื่อง Tax Planning และ Wealth Protection แล้วเงินสะสมที่เหลือ สามารถนำมาลงทุน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์
– เป้าหมายระยะสั้น เพื่อค่าใช้จ่ายในอนาคตอันใกล้
– เป้าหมายระยะกลาง เพื่อความฝัน หรือชีวิตที่ดีขึ้น
– เป้าหมายระยะยาว หรือ เป้าหมายเกษียณ พอกิน พอใช้หากเราไม่ได้ทำงานประจำแล้ว
กองทุนลดหยอนภาษีรูปแบบ SSF/RMF ส่งเสริมให้เราสร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาว เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง Tax Planning และ Wealth Accumulation ในระยะยาว
หมายเหตุจำนวนเงินที่สามารถซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีสามารถอ่านได้จาก https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/194648262552645
คำนวณเงินพอเกษียณได้หรือไม่จาก https://www.facebook.com/DekFinance101/posts/21652281703185
เงินที่เหลือจากการซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี สามารถนำมาลงทุนในกองทุนรวมปกติ หุ้น หรืออสังหาริมทรัพย์ได้ เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งของเรา ในเป้าหมายเกษียณ หากไม่พอจากกองทุนแบบลดหย่อนภาษี หรือเป้าหมายอื่นๆ สั้น กลาง ที่เราได้วางไว้
การวางแผนการลงทุน ต้องทำควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง โดยการจัดพอร์ท พร้อมกับทำ Asset Allocation ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ และมีระยะเวลาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสามารถในการเติบโตได้
6. Wealth Distribution
การส่งต่อความมั่งคั่งสามารถทำได้โดยเขียนพินัยกรรม เพื่อให้ความมั่งคั่งของเราได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ สิ่งนี้หลายคนสามารถทำได้เลยตั้งแต่อายุยังน้อย และสามารถทำมรณสติ ได้โดยการจำลองว่า ถ้าเราตายไป ทรัพย์สินที่มีอยู่ส่วนไหนบ้างต้องไปชดเชยหนี้ระยะยาว สั้น หรือประกันชีวิตที่ทำไว้ สามารถปิดความเสี่ยงได้หมดจริงหรือไม่ คนที่อยู่ข้างหลังเรายังไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ สิ่งนี้แม้จะดูไกลตัว แต่เราขอแนะนำให้ทำปีละครั้ง และอาจจะแต่งตั้งทนาย หรือคนรู้จัก ให้เป็นพยาน พินัยกรรมของเรา
อีกทางเลือกของการส่งต่อความมั่งคั่งคือไปยังสาธารณะ หรือการกุศล เพื่อให้องค์กรหรือมูลนิธิที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้นำเงินไปสร้างสิ่งที่ดียิ่งขึ้นๆไป พัฒนาสังคมของมนุษย์ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
เป็นจุดสูงสุดของปิระมิดการเงิน
สรุปใจความสำคัญ:
1. หาเงินให้พอ รายจ่ายและสะสม
2. บริหารสภาพคล่องให้ดี และมีเงินฉุกเฉิน
3. วางแผนลดหย่อนภาษีพร้อมกับบรรลุเป้าหมายอื่นที่สูง
4. ปิดความเสี่ยง รักษาความมั่งคั่ง โดยการซื้อประกัน
5. สะสมความมั่งคั่ง ลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมาย
6. ส่งต่อความมั่งคั่ง ให้กับคนที่เรารัก หรือสาธารณะ
สรุปได้ว่า ปิระมิดการเงิน จะทำให้เราเห็นภาพว่าเราควรจัดการเงินอย่างไร นำไปสู่การวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้ความพยายามและวินัย ตั้งแต่การสร้างความมั่งคั่ง จนส่งต่อได้ ไม่นำเงินไปใช้ในในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำจนเป็นนิสัย แค่นี้เราก็เริ่มต้นได้ถูกต้อง จะทำให้ชีวิตของเราและคนที่เรารักไม่ลำบาก คุณเองก็สามารถให้เวลากับการวางแผนการเงินได้เอง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตามตัวเราเองนี่แหละ จะต้องเข้าใจสถานะการเงินของตัวเองดี และนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายให้ได้
เพราะ การวางแผนการเงิน = การวางแผนชีวิต สรุปได้ว่า ปิระมิดการเงิน จะทำให้เราเห็นภาพว่าเราควรจัดการเงินอย่างไร นำไปสู่การวางแผนการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ต้องใช้ความพยายามและวินัย ตั้งแต่การสร้างความมั่งคั่ง จนส่งต่อได้ ไม่นำเงินไปใช้ในในสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำจนเป็นนิสัย แค่นี้เราก็เริ่มต้นได้ถูกต้อง จะทำให้ชีวิตของเราและคนที่เรารักไม่ลำบาก คุณเองก็สามารถให้เวลากับการวางแผนการเงินได้เอง หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
อย่างไรก็ตามตัวเราเองนี่แหละ จะต้องเข้าใจสถานะการเงินของตัวเองดี และนำพาตัวเองไปสู่เป้าหมายให้ได้เพราะ การวางแผนการเงิน = การวางแผนชีวิต
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W