เส้นทาง วัยเกษียณ ต้องมีเครื่องมือช่วยออมเงิน !
#FSspecialcolumnists x Cashury l วันนี้เราจะมาแนะนำตัวช่วยออมเงินเพื่อวัยเกษียณที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้และยังเป็นเครื่องมือที่อยู่ใกล้ตัวเราอีกด้วย เชื่อว่าเกือบทุกคนก็อยากมีเงินใช้เพียงพอในช่วงวัยเกษียณ แต่อีกนานหลายปีกว่าจะเกษียณ จึงทำให้ไม่ได้รีบวางแผนเกษียณ รวมถึงไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นออมเงินเพื่อเกษียณยังไงดี
ตอนนี้มีใครวางแผนเกษียณให้ตัวเองแล้วบ้าง? ขอเสียงหน่อย!! แล้วมีใครรู้บ้างว่า จริงๆ แล้วตอนนี้หลายคนก็อาจจะเริ่มออมเงินเพื่อใช้ในวัยเกษียณไปแล้วโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนที่เป็นพนักงานประจำ ข้าราชการ อาชีพอิสระ รวมถึงคนที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย
เครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้วางแผนเกษียณมีหลายตัว แต่ละตัวก็จะมีเงื่อนไขและจุดเด่นที่แตกต่างกัน มาทำความรู้จักกัน
เครื่องมือช่วยออมเงิน
มนุษย์เงินเดือน
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น ประกอบด้วยเงินที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ในอัตรา 2%- 15% ของเงินเดือน และจะได้รับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคืนเมื่อสมาชิกสิ้นสุดลง
กรณีเกษียณอายุ สามารถเลือกได้ว่า จะถอนออกบางส่วน หรือรับเงินเป็นงวด หรือรับเงินทั้งก้อนได้ (ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนด)
กองทุนประกันสังคม (มาตรา 33)
เมื่อเกษียณอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน สามารถขอรับสิทธิเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญกรณีชราภาพ ตามเงื่อนไขและระยะเวลาการส่งเงินสมทบ ดังนี้
1. กรณีชำระเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีวิต คิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ถ้าจ่ายเงินสมทบเกินกว่า180 เดือน จะเพิ่มอัตราการจ่ายเงินบำนาญให้อีก ร้อยละ 1.5 ของระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุกๆ 12 เดือน
2. ถ้าชำระเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จ รับเป็นเงินก้อนครั้งเดียว
ข้าราชการ
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ โดยข้าราชการจ่ายเงินสะสม 3% ของเงินเดือน + ออมเพิ่ม ตามความสมัครใจ และรัฐส่งเงินสมทบ 3% + เงินชดเชย 2%
เมื่อเกษียณอายุราชการ สามารถเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ เมื่ออายุ 50 ปี ขึ้นไป และมีอายุราชการ 10 ปี ขึ้นไป
ฟรีแลนซ์
กองทุนประกันสังคม (มาตรา 40)
สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ พนักงาน ลูกจ้างที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการอื่นๆ สามารถเลือกจ่ายเงินสมทบประกันสังคมได้ 3 รูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะได้เงินชราภาพต่างกัน ดังนี้
- ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน – ไม่ได้รับสิทธิชราภาพ
- ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน – ได้รับเงินบำเหน็จ (เงินสมทบ 50 บาท คูณ จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวก เงินออมเพิ่ม)
- ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน – ได้รับเงินบำเหน็จ (เงินสมทบ 150 บาท คูณ จำนวนเดือนที่จ่ายเงินสมทบ บวก เงินออมเพิ่ม)
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
คือ กองทุนที่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ สำหรับคนไทยผู้ประกอบอาชีพอิสระ รวมถึงนักเรียนนักศึกษา ออมขั้นต่ำ 50 บาทต่อครั้ง และรัฐสมทบเงินเพิ่ม 50-100% สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี
เมื่อครบอายุเกษียณ 60 ปี ก็จะจ่ายเงินบำนาญรายเดือน โดยเงินบำนาญต่อเดือน ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินออมของสมาชิกและอัตราผลตอบแทนการลงทุนในวันที่คำนวณ เริ่มต้น 600 บาท/เดือน สูงสุดถึง 7,200 บาท/เดือน
คนที่ลดหย่อนภาษี
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
คือ กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องหรือปีเว้นปี ไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี (ลงทุนสูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., ประกันชีวิตชนิดบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน)
สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อลงทุนอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง และอายุครบ 55 ปี โดยจะได้รับเป็นเงินก้อนพร้อมผลตอบแทนจากการลงทุน
ประกันบำนาญ
คือ ประกันชีวิตที่เน้นการออมเงิน โดยผู้เอาประกันต้องชำระเงินค่าเบี้ยตามระยะเวลาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ อย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ
จะได้รับเงินคืนเป็นจำนวนที่แน่นอน ในรูปแบบของเงินบำนาญ จนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี (แล้วแต่แบบประกัน)
——————————————–
ติดตาม #FinSpace เพิ่มเติมได้ที่
Instagram : https://bit.ly/3N3Yc5X
Thread : http://bit.ly/44usRBh
TikTok : https://bit.ly/3pAovpq
Twitter : https://bit.ly/3Cp68Ll
Blockdit : https://bit.ly/3VM3HJr
Website : http://bit.ly/2lxvlhY