FinSpace

ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ต่างกันยังไง ? คุ้มครองอะไรบ้าง ?

8 ประกันสังคมทุกมาตรา 01
ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40

โดนหักประกันสังคมไปทุกเดือน แต่บางคนไม่รู้ว่าจะได้รับสิทธิและสวัสดิการอะไรบ้าง ? หรือบางคนแทบไม่เคยได้ใช้สิทธิของประกันสังคมเลย เพราะยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ วันนี้ FinSpace จะพาไปทำความเข้าใจกับประกันสังคมทั้ง 3 มาตรากัน ว่าคุ้มครองอะไรบ้าง แล้วแต่ละมาตรามีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง มารักษาสิทธิของเรากันเถอะ !

ประกันสังคม คืออะไร ?

ประกันสังคม คือ การสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง

Advertisements

หรือพูดง่าย ๆ คือ การทำประกันกับรัฐบาล ด้วยการจ่ายเบี้ยประกันที่เรียกว่าเงินสมทบ ให้กับกองทุนประกันสังคมเป็นรายเดือน เพื่อรับความคุ้มครองนั่นเอง

ประกันสังคมแบ่งออกเป็นกี่มาตรา ?

ประกันสังคมนั้น แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 มาตราด้วยกัน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ และความคุ้มครองแตกต่างกัน ได้แก่

1. ประกันสังคมมาตรา 33 (แบบบังคับ) : มนุษย์เงินเดือน

8 ประกันสังคมทุกมาตรา 02
ประกันสังคมมาตรา 33

ลูกจ้างที่ทำงานให้กับนายจ้าง อยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่

1. เจ็บป่วย

เงื่อนไข : ต้องจ่ายสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน

  • สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
  • หากเข้ารักษาในโรงพยาบาลอื่นโดยที่ได้สำรองจ่ายไปก่อน สามารถเบิกคืนได้
  • โรงพยาบาลของรัฐ สามารถเข้ารับการรักษาได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ในกรณีเป็นผู้ป่วยนอก เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น และในกรณีเป็นผู้ป่วยใน เบิกได้ตามที่จ่ายจริง ยกเว้น ค่าห้องและค่าอาหาร เบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท
  • โรงพยาบาลเอกชน กรณีผู้ป่วยนอกเบิกค่ารักษาได้ไม่เกิน 1,000 บาท กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลกรณีไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท ค่าห้องค่าอาหารไม่เกินวันละ 700 บาท ค่าห้องกรณีรักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีต้องผ่าตัดใหญ่เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 – 16,000 บาท
  • ทันตกรรม ไม่เกิน 900 บาทต่อปี

2. ชราภาพ

เงินบำนาญ (เงินรายเดือน)

เงื่อนไข : ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

  • ถ้าจ่ายเงินมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะได้รับเงินบำนาญทุกเดือน 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
  • ถ้าจ่ายเงินเกิน 180 เดือน จะได้รับการปรับเพิ่มบำนาญอีก 1.5% สำหรับระยะเวลาที่จ่ายเงินเกิน 180 เดือน ทุก 12 เดือนที่จ่ายเงินเกิน 180 เดือนนั้น

เงินบำเหน็จ (เงินก้อน)

เงื่อนไข : จ่ายเงินไม่ถึง 180 เดือน มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

  • ถ้าจ่ายเงินต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับเงินที่จ่ายไป
  • ถ้าจ่ายเงินตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะได้รับเงินบำเหน็จเท่ากับจำนวนเงินที่เราและนายจ้างจ่ายเข้าไป พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด
  • ถ้าผู้รับเงินบำนาญเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่ได้สิทธิบำนาญชราภาพ จะได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต

3. ว่างงาน

เงื่อนไข : จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนขึ้นไป /ว่างงาน 8 วันขึ้นไป /ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านเว็บไซต์ https://empui.doe.go.th ภายใน 30 วัน /ต้องรายงานตัวตามนัดไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง /และต้องไม่ปฏิเสธการฝึกงาน

  •  กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามระยะเวลา จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนระหว่างว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท

4. ทุพพลภาพ (พิการ)

เงื่อนไข : ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 3 เดือน

  • กรณีทุพพลภาพรุนแรง ได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต
  • กรณีทุพพลภาพไม่รุนแรง ได้รับเงินทดแทนขาดรายได้ตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาตามประกาศฯ กำหนด
  • ได้รับค่ารักษาโรงพยาบาลรัฐตามที่จ่ายจริง แต่หากเป็นเอกชน ผู้ป่วนนอกไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน ผู้ป่วยในไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน
  • ได้รับเงินบำเหน็จเมื่อมีมติให้เป็นผู้ทุพพลภาพ
  • หากเสียชีวิต ผู้จัดการศพจะได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท และหากผู้ทุพพลภาพจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 ปีแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน แต่หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้าง 6 เดือน

5. ค่าคลอดลูก

เงื่อนไข : ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน

  • เบิกค่าคลอดบุตรได้ 15,000 บาท (ไม่จำกัดจำนวนครั้ง)
  • ถ้าผู้หญิงได้รับเงินสงเคราะห์จากการลาคลอด เหมาจ่าย 50% ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90 วัน (ใช้สิทธิได้เฉพาะบุตรคนที่ 1 และ 2 เท่านั้น)
  • หากสามีและภรรยามีประกันสังคมทั้งคู่ ให้เลือกใช้สิทธิได้เพียงคนเดียว

6. ค่าเลี้ยงดูลูก

เงื่อนไข : จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน

  • ได้รับเงินเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาท จนถึง 6 ปีบริบูรณ์ (ครั้งละไม่เกิน 3 คน)

7. เสียชีวิต

เงื่อนไข : สาเหตุการเสียชีวิตต้องไม่เกิดจากการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน

  • ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์ ถ้าก่อนเสียชีวิต ผู้ประกันตนได้ส่งเงินตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้เงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน แต่ถ้าส่งเงินมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป จะได้เงินเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน
  • โดยจ่ายให้กับคนที่ผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นคนได้รับเงินส่วนนี้ แต่ถ้าไม่ได้มีหนังสือระบุไว้ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่ สามีหรือภรรยา พี่แม่ หรือลูกของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งสามารถขอรับคืนเงินได้ภายใน 2 ปี

2. ประกันสังคมมาตรา 39 (สมัครใจ) : ลาออกจากงานประจำ

8 ประกันสังคมทุกมาตรา 03
ประกันสังคมมาตรา 39

ลาออกจากงานประจำแล้ว แต่อยากรักษาสิทธิของประกันสังคมต่อ สามารถสมัครมาตรา 39 ได้ จากที่สมทบเดือนละ 750 บาทจะเหลือเดือนละ 432 บาท โดยนายจ้างไม่ได้ช่วยเราสมทบแล้ว แต่รัฐบาลยังสมทบให้เราเดือนละ 120 บาท

คุณสมบัติของผู้สมัคร

  • เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน
  • ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

การยื่นใบสมัคร

  • ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (แบบ สปส. 1-20) ด้วยตนเอง ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน

สิทธิประโยชน์

  • จะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ยกเว้น การว่างงานที่จะไม่ได้รับ และกรณีเงินบำนาญที่เราจะได้น้อยลง แล้วจะน้อยลงยังไง ลองมาดูตัวอย่างกัน

เงินชราภาพที่ได้รับจะเปลี่ยนไป

ตัวอย่าง 1 : คุณ A เป็นมนุษย์เงินเดือน ส่งเงินประกันสังคมมาตรา 33 มาตลอดเป็นเวลา 180 เดือน แต่ต่อมาลาออกจากงาน แล้วสมัครมาตรา 39 และได้จ่ายเงินสมทบอีก 60 เดือน

เนื่องจากคุณ A จ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือน คุณ A จะได้รับเงินบำนาญรายเดือน ดังนี้

1. หาฐานคำนวณ
เงินบำนาญจะคิดจากฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย และคุณ A จ่ายเงินมาตรา 40 อยู่ที่ 4,800 บาท มา 60 เดือน ดังนั้นฐาน 60 เดือนสุดท้ายของคุณ A จะอยู่ที่ 4,800 บาท

2. คิดคำนวณเงินบำนาญ
ส่วนที่ 1 : 180 เดือนแรก เท่ากับ 4,800 บาท x 20% = 960 บาท
ส่วนที่ 2 : 60 เดือนหลัง เท่ากับ 4,800 บาท x 1.5% x (60 เดือน/12) = 360 บาท
ส่วนที่ 3 : รวมได้รับเงินบำนาญ 960 + 360 = 1,320 บาทต่อเดือน

ตัวอย่าง 2 : คุณ B ทำงานประจำ ส่งประกันสังคมมาตรา 33 มาตลอดเป็นเวลา 180 เดือน แล้วลาออก จากนั้นสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 ไป 30 เดือน จะได้เงินบำนาญ ดังนี้

1. หาฐานคำนวณ
ฐานเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนจะคิดจาก 4,800 บาท 30 เดือน มาเฉลี่ยกับ 15,000 บาทตอนทำงานประจำอีก 30 เดือน ดังนี้

ส่วนที่ 1 : 30 เดือนแรก เท่ากับ (4,800 บาท x 30 เดือน) / 60 เดือน = 2,400 บาท
ส่วนที่ 2 : 30 เดือนหลัง เท่ากับ (15,000 บาท x 30 เดือน) / 60 เดือน = 7,500 บาท
ส่วนที่ 3 : จะได้ฐานเฉลี่ย เท่ากับ 2,400 + 7,500 = 9,900 บาท

2. คิดคำนวณเงินบำนาญ
ส่วนที่ 1 : 180 เดือนแรก เท่ากับ 9,900 x 20% = 1,980 บาทต่อเดือน
ส่วนที่ 2 : 30 เดือนหลัง เท่ากับ 9,900 บาท x 1.5% x (30 เดือน/12) = 371.25 บาท
ส่วนที่ 3 : รวมได้รับเงินบำนาญ 1,980 + 337.5 = 2,351.25 บาทต่อเดือน

จะเห็นได้ว่า หากเราจ่ายเงินประกันสังคมมาตรา 39 ครบ 60 เดือน (ตัวอย่าง 1) จะได้รับเงินบำนาญ 1,320 บาทต่อเดือน ซึ่งน้อยกว่าการจ่ายไม่ครบ 60 เดือน (ตัวอย่าง 2) ที่ได้รับเงินบำนาญ 2,351.25 บาทต่อเดือน ถึงแม้ว่าจะจ่ายเงินสมทบไปมากกว่าก็ตาม

แล้วควรต่อมาตรา 39 มั้ย ?
ก็อยู่ที่ความต้องการของแต่ละคน หากใครที่ต้องการเงินบำนาญก็ไม่ควรต่อมาตรา 39 ฐานคำนวณก็จะอยู่ที่ 15,000 บาทเหมือนเดิม แต่ถ้าใครที่ต้องการสวัสดิการอื่นอย่างค่ารักษาพยาบาลก็ควรต่อมาตรา 39 ครับ

การขาดประกันสังคม

  • ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ)
  • ภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน) 

3. ประกันสังคมมาตรา 40 (สมัครใจ) : ฟรีแลนซ์ หรืออาชีพอิสระ

8 ประกันสังคมทุกมาตรา 04
ประกันสังคมมาตรา 40

ฟรีแลนซ์ หรืออาชีพอิสระ โดยไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 หากต้องการสวัสดิการประกันสังคม สามารถสมัครมาตรา 40 ได้ มีเลือก 3 แพ็คเกจด้วยกัน

คุณสมบัติ

  • มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 65 ปีบริบุูรณ์
  • ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39

ทางเลือกที่ 1

เดือนละ 70 บาท ได้รับสิทธิ 3 กรณี ดังนี้

1.1 เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

เงื่อนไข : จ่ายเงินไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 เดือน ได้รับสิทธิรวมกันไม่เกิน 30 วันต่อปี

Advertisements
  • ผู้ป่วยใน วันละ 300 บาท
  • ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท และหยุดพักรักษาตัวไม่เกิน 2 วัน (มีใบรับรองแพทย์) ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อปี วันละ 50 บาท

หมายเหตุ : สิทธิการรักษาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือสิทธิเดิมที่มีอยู่

1.2 ทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 15 ปี

– จ่ายเงินมาแล้ว 6 เดือนใน ได้รับ 500 บาท
– จ่ายเงินมาแล้ว 12 เดือนได้รับ 650 บาท
– จ่ายเงินมาแล้ว 24 เดือนได้รับ 800 บาท
– จ่ายเงินมาแล้ว 36 เดือนได้รับ 1,000 บาท

*เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท

1.3 เสียชีวิต

เงื่อนไข : จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 ใน 12 เดือน ยกเว้นเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ หรือหากจ่ายเงินไม่ครบ 6 ใน 12 เดือน แต่มีการจ่ายเงิน 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย

  • ผู้จัดการศพได้รับเงินค่าทำศพ 25,000 บาท
  • ได้รับเงินสงเคราะห์ 8,000 บาท หากจ่ายเงินไม่น้อยกว่า 60 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย

ทางเลือกที่ 2

เดือนละ 100 บาท ได้รับสิทธิเหมือนทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มในส่วนชราภาพ ดังนี้

เงื่อนไข : เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

  • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 50 บาท x จำนวนเดือนที่จ่ายเงิน + เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

สามารถออมเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

ทางเลือกที่ 3

เดือนละ 300 บาท ได้รับสิทธิ 5 กรณี ดังนี้

3.1 เงินทดแทนการขาดรายได้ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

เงื่อนไข : จ่ายเงินไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 เดือน รับสิทธิรวมกันไม่เกิน 90 วัน/ปี

  • ผู้ป่วยใน ได้รับวันละ 300 บาท
  • ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท

หมายเหตุ : สิทธิการรักษาใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือสิทธิเดิมที่มีอยู่

3.2 ทุพพลภาพ

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน ตลอดชีวิต

Advertisements
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนใน ได้รับ 500 บาท
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือนได้รับ 650 บาท
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 24 เดือนได้รับ 800 บาท
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือนได้รับ 1,000 บาท

*เสียชีวิตระหว่างรับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท

3.3 กรณีเสียชีวิต

เงื่อนไข : จ่ายเงินไม่น้อยกว่า 6 ใน 12 เดือน ยกเว้นเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ หรือหากจ่ายเงินไม่ครบ 6 ใน 12 เดือน แต่มีการจ่ายเงินสมทบ 1 ใน 6 เดือน ก่อนเดือนที่ตาย

  • ผู้จัดการศพได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท ก่อนเดือนที่ตาย

3.4 ชราภาพ

เงื่อนไข : เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

  • ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ (เงินสมทบ 150 บาท x จำนวนเดือนที่จ่ายเงิน + เงินออมเพิ่ม) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนรายปีตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

สามารถออมเพิ่มได้ไม่เกิน 1,000 บาท ต่อเดือน

3.5 ค่าเลี้ยงดูลูก

เงื่อนไข : จ่ายเงินไม่น้อยกว่า 24 เดือน และขณะรับเงินค่าเลี้ยงดูลูก ต้องจ่ายเงินสมทบทุกเดือน

  • ได้รับเงินค่าเลี้ยงดูลูกรายเดือน คนละ 200 บาท ครั้งละไม่เกิน 2 คน อายุตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่เกิน 6 ปี บริบูรณ์ 

จะเห็นได้ว่าประกันสังคมทั้ง 3 มาตรามีข้อแตกต่างพอสมควร และสามารถนำเงินสมทบประกันสังคมที่เราจ่ายทุกเดือนมาใช้เพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ด้วย หากใครมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง


ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements