เรียนรู้วิกฤตจาก The Big Short สรุปให้ครบแบบรู้เรื่อง FinSpace x Crisis Man
The Big Short ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของเหล่านักการเงินมืออาชีพชาวอเมริกันผู้คาดการณ์และหาโอกาสทำกำไรจากการก่อตัวขึ้นของวิกฤตฟองสบู่สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกำลังถึงจุดจบในช่วงปี 2007 ถึง 2008
The Big Short เล่าถึงที่มาที่ไปของวิกฤต ยิ่งไปกว่านั้นยังถ่ายทอดอารมณ์และความย้อนแย้งทางด้านศีลธรรมในจิตใจของตัวละครที่มองเห็นวิกฤตก่อตัวขึ้นได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงอธิบายตราสารทางการเงินที่ซับซ้อนอันเป็นจุดกำเนิดของวิกฤต ซึ่งหลายๆ คนที่ได้รับชมมาแล้วอาจมีข้อสงสัยกันบ้าง
เราจะมาอธิบายว่าแต่ละตัวละครเขาทำอะไรกัน ใช้เครื่องมืออะไร และแต่ละเครื่องมือ มันคืออะไร?
จุดเริ่มต้นของ The Big Short
ภาพยนตร์เริ่มต้นเล่าเหตุการณ์ในปี 2005 เมื่ออดีตนายแพทย์ผู้ผันตัวมาเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ นามว่า ไมเคิล เบอร์รี่ (Michael Burry) พบว่าในตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีการก่อตัวของฟองสบู่ขนาดมหึมาอันเกิดจากความเสี่ยงของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีเครดิตต่ำ (Subprime) ซึ่งซ่อนอยู่ใน Collateralized Debt Obligation (CDO) หรือหลักทรัพย์ที่เกิดจากการมัดรวมหนี้สินเชื่อเข้าด้วยกัน
เขาจึงเปิดเกมเข้าซื้อตราสารอนุพันธ์ที่ชื่อว่า Credit default swaps (CDS) กับสถาบันการเงินต่างๆ ไปทั่ว ตราสารตัวนี้ทำหน้าที่เสมือนประกันว่าตลาดอสังหาฯ จะพินาศลง ซึ่งคล้ายกับการเปิดโอกาสให้เขาสามารถ short ตลาดอสังหาฯ นั่นคือเขาเดิมพันว่ามูลค่าของตลาดอสังหาฯ จะลดลง โดยยอมจ่ายค่าเบี้ยประกัน (CDS spread) ในแต่ละปี
เท่านั้นแหละครับ!! ลูกค้ากองทุนของเขาด่ายับเลย เนื่องจากสถาบันทางการเงินและบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างออกมาบอกว่าตลาดอสังหาฯ ยังคงแข็งแรง หนักๆ ลูกค้าก็แห่ถอนเงินออก แต่เขาก็ได้ระงับการถอนเงินชั่วคราวไปเลย
ตรงนี้บางคนอาจงงว่าอะไรคือ short
หลายคนคงคิดว่าการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนต้องเกิดจากการซื้อถูกขายแพง ใช่ครับ นักลงทุนที่ทำ short ก็ซื้อถูกขายแพงเหมือนกัน เพียงแต่ว่าพวกเขายืมของมาขายแพงก่อนแล้วค่อยซื้อถูกเอากลับไปคืนที่ยืมมา นักลงทุนที่ทำแบบนี้คือคนที่เดาว่าราคาสินทรัพย์นั้นจะลง
ก่อนจะไปมากกว่านี้ ภาพยนตร์เริ่มอธิบายตราสารทางการเงินตัวหนึ่งที่เรียกว่า Mortgage-Backed Security (MBS) ในฉากที่มีสาวสวยแช่ตัวในอ่างอาบน้ำดื่มแชมเปญ โดย MBS เกิดจากการที่ธนาคารได้นำสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันมามัดรวมๆ กันแล้วขายต่อกับนักลงทุน โดยภายในนั้นอาจเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีเครดิตสูง (Prime) หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีเครดิตต่ำ (Subprime) ก็ได้
ตัวเร่งวิกฤตการเงินครั้งใหญ่
ในขณะเดียวกัน จาเร็ด เวนเน็ตต์ (Jared Vennett) นายหน้าขายพันธบัตรแห่งด๊อยซ์แบงค์ (Deutsche Bank) บังเอิญได้ข่าวการเข้าซื้อ CDS กว่า 1,300 ล้านเหรียญ ของไมเคิล เบอร์รี่ (ฉากงานฉลองต้นเรื่อง) เลยเริ่มหาข้อมูลมาเสนอให้เหล่าผู้จัดการกองทุนเข้าซื้อ CDS หวังได้ค่าคอมมิชชั่นและอยากจะ short ตามบ้าง
บังเอิญลูกทีมโทรผิดไปหากลุ่มของ มาร์ค บาม (Mark Baum) ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันแห่งหนึ่ง พ่อหนุ่มขี้วีนผู้จ้องหาด้านมืดของระบบการเงินได้สะดุดตากับข่าวการเข้าซื้อ CDS ของไมเคิล เบอร์รี่ แต่ก่อนที่เขาจะปิดดีลเข้าซื้อ short ครั้งนี้ ก็ได้หาข้อมูลของดีลมูลค่ากว่า 1,300 ล้านเหรียญ แล้วพบว่า ไมเคิล เบอร์รี่ เจอเข้ากับหนี้ก้อนมหึมาซึ่งซ่อนอยู่ในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ชื่อว่า Collateralized Debt Obligation (CDO) ที่เกิดจากการนำพันธบัตร หุ้นกู้ รวมไปถึง MBS มารวมๆ กันแล้วห่ออย่างสวยงามออกมาขายนักลงทุน แถมยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อ AAA (ระดับสูงสุด) ซึ่งจริงๆ แล้วประกอบไปด้วยขยะจากกลุ่มซับไพร์มกว่า 65 % อันเป็นตัวเร่งการเกิดวิกฤต
นอกจากนี้เขายังได้ส่งลูกทีมออกสำรวจตลาดอสังหาฯ ซึ่งมีแต่บ้านที่ว่างเปล่าและราคาที่สูงลิบ มาร์ค บาม จึงสรุปว่าเขาได้พบกับฟองสบู่อันจะนำมาซึ่งวิกฤตในเร็วๆ นี้ จึงจัดการปิดดีล short กับจาเร็ด เวนเน็ตต์
มาถึงคู่หูเด็กเกรียนอย่าง ชาร์ลี เกลเลอร์ (Charlie Geller) กับ เจมี่ ชิปลีย์ (Jamie Shipley) ได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านอดีตนักการเงินผู้หันหลังให้กับระบบการเงินนามว่า เบน ริกเคิร์ต (Ben Rickert) หลังจากพบเอกสารนำเสนอของ จาเร็ด เวนเน็ตต์ ที่ล็อบบี้ธนาคารแห่งหนึ่ง เพื่อขอเข้าซื้อ CDS ต่อในตลาดรอง เพราะทั้งสองยังทุนไม่หนาพอที่จะเข้าซื้อ CDS โดยตรงกับสถาบันการเงินเหมือนพวกกองทุน และสุดท้ายก็นำไปขายต่อที่ตลาดในยุโรปตอนตลาดอสังหาฯ ใกล้ล้ม (ช่วงท้ายเรื่อง)
การพนันซ้อนพนัน ระเบิดเวลาของภาคอสังหาฯ
Synthetic CDO
ในระหว่างที่เรื่องดำเนินไป โดยฉากในกาสิโน ที่ลาส เวกัส ภาพยนตร์ได้อธิบายถึงตราสารทางการเงินที่ซับซ้อนตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่า Synthetic CDO ในฉากที่นักพนันกำลังเล่นพนันอยู่ แล้วก็เกิดการพนันซ้อนพนันกันเกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว Synthetic CDO คือการทำตราสารโดยอ้างอิงกับ CDS อีกทีหนึ่ง
ภาพยนตร์จึงเปรียบ Synthetic CDO เป็นการพนันซ้อนพนัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเลือกเดิมพันกับตลาดอสังหาฯ ฝั่งไหน แล้วก็ยังมีการทำ Synthetic CDO ซ้อนกันไปเรื่อยๆ ดังนั้นนี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดการขายแบบลูกโซ่อันวินาศสันตะโรเมื่อตลาด อสังหาฯ พังลง
บทเรียนแสนหดหู่จากการเดิมพัน
งานเลี้ยงเลิกรา
สุดท้ายคู่หูสุดเกรียนได้รับบทเรียนอันแสนหดหู่จากการเดิมพันของพวกเขา ความบกพร่องทางศีลธรรมไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่ออย่างมหาศาลปานฟ้ารั่ว หรือแม้กระทั่งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อที่จัดอันดับกองสินเชื่อเน่า (CDOs) ได้มั่วขนาดนี้ ทั้งหมดเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า “เงิน”
ในท้ายที่สุดใครก็ตามที่ลงทุนฝั่งเดียวกับคุณหมอไมเคิล เบอร์รี่ ได้รับผลตอบแทนเกือบ 500% หลังจากทุกอย่างพินาศลง
คำถามที่เกิดหลังจากรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบ คือ ถ้าหากท่านคือบุคคลเหล่านี้ผู้ซึ่งเห็นเค้าลางของความพินาศ ท่านจะเลือกฝั่งใด ระหว่างออกลุยเตือนตลาดที่กำลังคลั่งและมั่นใจมาก กับ เป็นคนกลุ่มน้อยผู้ซึ่งเลือกเดิมพันเพื่อความมั่งคั่งอันเกิดจากความพินาศของคนทั้งตลาด?
ติดตามบทความ การเงิน สนุกๆกันต่อได้ที่ FinSpace – Finance
ติดตามบทความอื่น ๆ ของ Crisis Man ได้ที่ Fanpage https://www.facebook.com/MrCrisisman/