เลือกเปลี่ยนภาษีเป็นเงินเกษียณ กับ RMF กองทุนเด็ด ธีมลงทุนต่างประเทศ จาก บลจ.กรุงศรี
“ติดดอย” ทำไงดีอ่ะ ?
ถ้าคุณกำลังรู้สึกว่าตัวเอง “ติดดอย” !! บทความนี้อาจช่วยแก้ปัญหาได้
ทุกคนที่ลงทุนอยู่น่าจะคุ้นเคยกับอาการนี้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าเป็นคำฮิตติดปากนักลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋าก็ว่าได้ หลายคนคงจะเคยผ่านเหตุการณ์นี้กันมาแล้ว หรือบางคนก็อาจจะกำลังประสบเหตุการณ์นี้อยู่
อาการติดดอย คือ เมื่อเราเข้าซื้อสินทรัพย์ตัวหนึ่ง เช่น หุ้น ทองคำ น้ำมัน รวมถึงคริปโตฯ ด้วย แล้วหลังจากนั้นราคาของสินทรัพย์ก็ปรับลดลงเรื่อยๆ และยังไม่กลับไปราคาเดิมที่เราซื้อไว้สักที ทำให้เราซื้อสินทรัพย์นั้นที่ราคาสูงสุด เปรียบได้เหมือนเราติดอยู่บนยอดดอยนั่นเอง นอกจากนี้ การติดดอยทำให้ต้นทุนของเราแพงกว่าราคาปัจจุบัน และทำให้เราขาดทุนในที่สุด
แล้วถ้าเราติดดอยอยู่ควรจะทำยังไงต่อดี?
ปล่อยไว้ ซื้อเพิ่ม หรือ ยอมขายขาดทุน
วันนี้เราจะมาแชร์วิธีแก้ปัญหาการติดดอย ซึ่งต้องบอกก่อนว่าเป็นมุมมองจากพวกเราเอง ไม่ได้เป็นทฤษฎีหรือหลักการแต่อย่างใด บางคนอาจจะมีเทคนิคอื่นอีก ก็มาแชร์ไอเดียกันได้นะ
ขั้นที่ 1 ศึกษาสินทรัพย์ที่เราลงทุนแล้วติดดอย
อาจจะฟังดูแปลกๆ ที่เรามาศึกษาในสิ่งที่ซื้อไปแล้ว แต่คือสิ่งจำเป็นอย่างมากที่จะต้องศึกษาอีกครั้งว่าสินทรัพย์ที่เราลงทุนไปนั้นยังดีอยู่มั้ย? มีความน่าสนใจในอนาคตมั้ย? หรือถ้าติดดอยหุ้นก็ควรจะดูว่าบริษัทนั้นยังมีโอกาสเติบโตต่อหรือสามารถสร้างกำไรในอนาคตได้มั้ย?
ขั้นที่ 2 ดูภาพรวมของสภาวะตลาด
เราควรจะหาสาเหตุว่า ราคาสินทรัพย์นั้นปรับตัวลงจากปัจจัยอื่น หรือ จากปัจจัยของตัวสินทรัพย์ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าภาพรวมตลาดอาจจะส่งผลให้สินทรัพย์ทั้งหมดปรับตัวลดลง หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า สภาพเศรษฐกิจ ณ เวลานั้นไม่เอื้อ ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่าสินทรัพย์ของเราอาจจะไม่ได้ไม่ดี แต่แค่ภาพรวมทั้งหมดไม่ดีนั่นเอง
ขั้นที่ 3 ตัดสินใจระหว่าง ถือ ซื้อ หรือ ขาย
หลังจากที่เราวิเคราะห์ภาพรวมทั้งอดีตและอนาคตของสินทรัพย์นั้นแล้ว ต่อมาก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการตัดสินใจ โดยเราสรุปสถานการณ์เหล่านั้นและแบ่งได้เป็น 5 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 – Cut Loss หรือตัดขาดทุน เมื่อสินทรัพย์นั้นไปต่อในอนาคตไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยของสินทรัพย์เอง หรือการเกิด New Normal รวมถึงไม่สามารถสู้คู่แข่งในตลาดได้แล้ว เราก็จำเป็นจะต้องยอมตัดขาดทุนนะ
กรณีที่ 2 – ขายทิ้งแล้วซื้อใหม่ตอนที่ราคาลง เมื่อสินทรัพย์นั้นยังมีอนาคตและเรามีความรู้ความเข้าใจในสภาวะตลาดและจับจังหวะการลงทุนเป็น โดยขายสินทรัพย์นั้นทิ้งไปก่อน รอจังหวะที่ราคาลงจนถึงที่สุดแล้วค่อยนำเงินไปซื้อคืน วิธีนี้จะทำให้เรามีจำนวนสินทรัพย์เพิ่มมากขึ้น โดยที่ใช้เงินลงทุนเท่าเดิม
กรณีที่ 3 – ขายทิ้งแล้วไปซื้อตัวอื่นที่ดีกว่า เมื่อเล็งเห็นว่ามีสินทรัพย์อื่นที่อาจจะให้ผลตอบแทนดีกว่าในระยะเวลาสั้น เพื่อทำกำไร หลังจากนั้นอาจจะรอจังหวะเข้าลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ หรือกลับไปซื้อสินทรัพย์เดิมก็ได้ถ้าเราคิดว่าสินทรัพย์นั้นยังคงมีพื้นฐานดีอยู่
กรณีที่ 4 – ถือต่อ เมื่อสินทรัพย์นั้นยังมีอนาคตอยู่ เพราะถ้าสินทรัพย์นั้นยังมีพื้นฐานดี สามารถทำกำไรและมีความน่าสนใจในอนาคต เมื่อภาพรวมของสินทรัพย์นั้นดีขึ้น ราคาอาจจะพุ่งสูงขึ้นจนทำให้เราได้ต้นทุนคืนมาและได้กำไรเพิ่มด้วยก็เป็นไปได้
กรณีที่ 5 – ซื้อเพิ่ม หรือถัวเพิ่ม เมื่อสินทรัพย์นั้นยังมีพื้นฐานดีและเรายังมีเงินลงทุนอีกก้อนหนึ่ง วิธีนี้จะทำให้เราได้จำนวนสินทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นและมีต้นทุนรวมที่ต่ำลง
สุดท้ายนี้ ทุกการลงทุนยอมมีความเสี่ยงเสมอ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงนั้นลงได้ด้วยศึกษาหาความรู้ในสินทรัพย์นั้นๆ ดังนั้นอย่าลืมศึกษาให้ละเอียดก่อนตัดสินใจเริ่มลงทุนนะ รวมถึงอย่าลืมว่าเราต้องมีวินัยในการลงทุนด้วย ต้องรู้จัก Cut Loss ให้เป็น มิเช่นนั้นก็จะวนกลับติดดอยอีกที
ติดตามบทความอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่ www.finspace.co
ติดตามเรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณก่อนใครได้ที่
Facebook : FinSpace
LINE Official : http://bit.ly/2qL8S48
Twitter : http://bit.ly/2keFfVD
Instagram : http://bit.ly/2ktv2o7
Blockdit : https://bit.ly/37EWqmb
กลุ่มความรู้นักลงทุน: http://bit.ly/3clAwZ2
กลุ่มพัฒนาตัวเอง: http://bit.ly/3ejPXnk
กลุ่มคริปโต บิทคอยน์ NFT: https://bit.ly/3J8LS1W