FinSpace

Wealth Protection ปกป้องความมั่งคั่ง สร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยง

[คุณวางแผนปกป้องความมั่งคั่ง เลือกแผนประกันที่เหมาะกับตัวเองถูกต้องหรือไม่?

covv

การปกป้องความมั่งคั่ง หรือสร้างหลักประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับเราและคนรอบข้าง ทำให้ความมั่งคั่งที่เราสะสมมาถูกรักษาไว้ ไม่ต้องนำไปจ่ายให้กับสิ่งที่อยู่นอกเหนือแผน สามารถทำได้ผ่านประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ เป็นการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) และพาเราไปสู่เป้าหมายทางการเงินได้

Advertisements

การทำประกันนั้นก็ควรเลือกประกันให้เหมาะสมกับตนเอง โดยให้เริ่มคิดจากว่าเรามีหนี้สินเท่าไหร่ หรือมีคนข้างหลังที่เราต้องคอยดูแลหรือไม่ ถ้าหากมีเหตุไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับเรา ใครจะเป็นผู้แบกรับหนี้สินนั้นเเทนเรา หรือคนข้างหลังจะอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีเรา ในเคสเเบบนี้จะเห็นว่าประกันชีวิตจำเป็นมาก

ตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ยังต้องมีภาระ ให้คนข้างหลังดูแลหรือไม่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาขั้นต่ำบุตร หรือรายจ่ายในบ้านที่หายไป หากเราเป็นหนึ่งในเสาหลักของครอบครัว

ลองคิดออกมาว่าถ้าหากเราเป็นอะไรไป เราต้องเตรียมเงินสำหรับหนี้ก้อนที่เรามีอยู่ หรือให้คนข้างหลังได้มีเงินใช้เท่าไร เช่น ถ้ามีหนี้และคนข้างหลังจะอยู่สบายก็ต่อเมื่อต้องมีเงินก้อน 5 ล้านบาทให้เขา (เรียกว่าทุนประกัน หรือความคุ้มครอง) เรามีหน้าที่จ่ายเบี้ยประกัน เพื่อให้ความคุ้มครองยังคงอยู่

ดังนั้นในเคสนี้ก็อาจต้องทำเบี้ยประกันชีวิตให้ได้เท่ากับความคุ้มครองที่จำเป็น และประกันบางแบบสามารถคืนเงินบางส่วนให้กับผู้ทำประกันเมื่อครบกำหนด

หลังจากที่เราทำประกันชีวิตเพื่อปกป้องความเสี่ยงให้คนข้างหลังเราแล้ว ถ้ายังมีเงินเหลือก็อย่าลืมนึกถึงประกันสุขภาพ หรือประกันโรคร้ายแรงให้กับตัวเองด้วย และต้องพิจารณาควบคู่ไปกับสวัสดิการที่มี ทั้งนี้ส่วนประกันสุขภาพ และโรคร้ายแรงนี้ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับประกันชีวิตได้ด้วยรวม 100,000 บาท

วันนี้ เด็กการเงิน ขอสรุปประกันแบบต่างๆ แบบเข้าใจง่ายมาให้อ่านกัน

ประกันชีวิต

ประกันชีวิตให้ความคุ้มครองจากการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และสูญเสียรายได้ ซึ่งมี 4 แบบคือ

1️⃣ ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ มีทุนประกันสูง แต่เบี้ยประกันต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีภาระ/หัวหน้าครอบครัว/เน้นความคุ้มครองชีวิต ซึ่งประกันแบบนี้สามารถเก็บไว้เป็นเงินมรดกได้

2️⃣ ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา มีทุนประกันสูง แต่เบี้ยประกันต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบจำกัด ซึ่งต้องการความคุ้มครองแค่กรณีเสียชีวิตเท่านั้น

3️⃣ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ มีทุนประกันปานกลาง แต่เบี้ยประกันสูง เหมาะสำหรับผู้ที่เน้นคุ้มครองชีวิตและต้องการออมเงิน

4️⃣ ประกันชีวิตแบบบำนาญ มีทุนประกันต่ำ และเบี้ยประกันปานกลาง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเงินไว้ใช้ยามเกษียณ

ซึ่งประกันทุกแบบนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แต่ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป

ประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง

ประกันสุขภาพ/โรคร้ายแรง เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ หรืออุบัติเหตุ ซึ่งปัจจุบันนี้ประกันโรคร้ายแรงก็มีความสำคัญมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายจากการรักษาตัวด้วยโรคร้ายแรงนั้นไม่น้อยเลย

Advertisements

📌สิ่งที่ควรรู้ ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรงเหมาะกับการทำคู่กับประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อให้เราสามารถได้รับความคุ้มครองในระยะยาว (สามารถทำคู่กับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ได้ แต่เมื่อสิ้นระยะเวลาของประกันสะสมทรัพย์ เราก็ต้องทำประกันหลักตัวใหม่อยู่ดีเพื่อให้สามารถทำประกันสุขภาพพ่วงได้ ซึ่งเวลานั้นสุขภาพอาจจะไม่แข็งแรงแล้ว ทำให้เป็นข้อจำกัดในการพิจารณารับทำประกันได้)

ประกันชีวิตควบการลงทุน หรือ Unit-linked

1x1 1

ประกันชีวิตควบการลงทุนเป็นประกันรูปแบบพิเศษ เพราะส่วนประกอบข้างในไม่เหมือนประกันชีวิตแบบทั่วไปเลย เมื่อเราเลือกทำประกันชีวิตประเภทนี้ เราจะจ่ายเบี้ยประกันไปด้วยเงิน 1 ก้อน ซึ่งเราสามารถเลือกวงเงินคุ้มครองที่ต้องการจากเบี้ยประกันที่เราจ่ายไปได้ และมีการหักค่าใช้จ่าย และส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่นำไปลงทุน

หรือพูดง่ายๆ ว่าเงินที่จ่ายไปนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 1) ส่วนที่คุ้มครองชีวิต 2) ค่าใช้จ่ายของกรมธรรม์ และ 3) ส่วนของการลงทุน

เราสามารถเลือกวงเงินความคุ้มครอง (ส่วนที่ 1) ได้ ซึ่งวงเงินคุ้มครองนี้ก็ขึ้นอยู่กับเพศและอายุด้วย

ถ้าหากเราต้องการความคุ้มครองชีวิตที่สูง (ส่วนที่ 1 มาก) ดังนั้นเงินที่จะไปอยู่ในส่วนลงทุนก็จะต่ำลง (ส่วนที่ 3 น้อย)

แต่ประกันแบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกปีว่าปีไหนต้องการส่วนไหนมากหรือน้อย หรือถ้าหากต้องการลงทุนเพิ่ม ก็สามารถเพิ่มเฉพาะเบี้ยส่วนลงทุน (ส่วนที่ 3) ได้

ในส่วนของการลงทุน บริษัทประกันจะคัดเลือกกองทุนรวมมาให้เราเลือกว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในกองทุนรวมประเภทไหน ซึ่งมีทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนตราสารทุน กองทุนดัชนี หรือกองทุนผสม เราสามารถเลือกกองทุนที่ต้องการ จัดพอร์ต Asset Allocation สามารถสับเปลี่ยนกองทุน(Switching) ได้ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุน (Rebalance) ได้อีกด้วย

📌สิ่งที่ควรรู้ เบี้ยประกันส่วนความคุ้มครองชีวิตเป็นเบี้ยที่เราใช้รักษาสถานะของกรมธรรม์ ในส่วนนี้จะไม่ได้คืน แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับส่วนที่ 3 คือส่วนที่เรานำไปลงทุน ซึ่งการลงทุนมีความเสี่ยง เราอาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ดังนั้นเราก็ควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน เลือกลงทุนในกองทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายและความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเองด้วย

Advertisements

เนื่องจาก Unit-linked เป็นประกันชีวิตเล่มหลัก เราสามารถซื้อประกันสุขภาพเสริมได้

ค่าใช้จ่ายในส่วนของประกันชีวิตเป็นอย่างไร?

ประกันชีวิตแบบ Unit-linked จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกันภัย (Premium Charge) ค่าการประกันภัย (Cost of Insurance) ซึ่งขึ้นอยู่กับตารางมรณะแยกตามเพศและอายุ และค่าธรรมเนียมบริหารกรมธรรม์ (Administration Fee) แต่ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

Unit-linked เหมาะกับใคร?

เหมาะกับคนที่มีภาระ หัวหน้าครอบครัว และคนที่อยากได้ความคุ้มครองชีวิตสูงและคุ้มครองยาวนาน

เหมาะกับคนที่ต้องการวางแผนการเงินระยะยาว เพราะ Unit-linked 1 กรมธรรม์ ตอบโจทย์ทุกความต้องการทั้งด้านความคุ้มครอง และสามารถใช้วางแผนการเงินการลงทุน ตั้งเป้าหมายการลงทุนได้ จากที่เห็นว่าสามารถเลือกสัดส่วน Asset Allocation และ Rebalance ได้ รวมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองได้ตามความต้องการในแต่ละช่วงของชีวิตด้วย


ติดตาม #FinSpace เพิ่มเติมได้ที่
Instagram : https://bit.ly/3N3Yc5X
TikTok : https://bit.ly/3pAovpq
Twitter (x) : https://bit.ly/3Cp68Ll
Blockdit : https://bit.ly/3VM3HJr
Website : http://bit.ly/2lxvlhY

Advertisements

FinSpace

https://www.finspace.co/

"เรื่องราวการเงินที่จะมาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นคุณ"

Related post

Advertisements