Trend Line คืออะไร ? ที่ลากกันอยู่ ถูกหรือไม่ (ไขปริศนากับ Trend Line)
Trend Line คืออะไร Trend Line เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญของการวิเคราะห์ทางเทคนิค และคำถามเกี่ยวกับ Trend Line ก็จัดเป็นคำถามยอดฮิตที่ผมถูกถามบ่อยมากเช่นกัน!!! ผมคิดว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะยังมีหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจหลักของการลาก Trend Line จึงทำให้เวลาวิเคราะห์กราฟ จึงไม่มั่นใจว่าตัวเองลากเส้น Trend Line ได้ถูกหรือเปล่า หรือบางทีไปเห็นกราฟหุ้นตัวเดียวกันของเซียนเทคนิคหลายคน ก็ดันลาก Trend Line ไม่เหมือนกัน จึงยิ่งสับสนว่าตกลงแล้วใครลากถูกใครลากผิดกันแน่ บทความนี้ผมมีคำตอบให้ครับ
การลากเส้น TREND LINE ไม่มีกฎตายตัว
สิ่งที่ควรเข้าใจเป็นอันดับแรก คือ การลากเส้น Trend Line ไม่มีกฎ (Rules) ที่ตายตัว ดังนั้น “การลากเส้น Trend Line จึงไม่มีวิธีที่ถูก และไม่มีวิธีที่ผิด” แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะลากเส้น Trend Line ยังไงก็ได้ เพื่อสนับสนุนมุมมองในการเทรดของตัวเอง จึงทำให้กราฟเดียวกันเราอาจจะเห็นเซียนแต่ละคนลากเส้น Trend Line ที่ไม่เหมือนกันได้
สาเหตุที่การลากเส้น Trend Line ไม่มีกฎตายตัว เพราะถ้าเราจะใช้คำว่า “กฎ” กับความรู้ใด ๆ ก็ตาม แปลว่าถ้าหลังจากเราทำตามกฎนั้นแล้ว ผลที่ตามมาจะต้องการันตีได้ว่าจะต้องเกิดอะไรต่อไป เช่น ถ้ามีกฎในการลากเส้น Trend Line แปลว่า หลังจากลากเส้น Trend Line ตามกฎแล้วราคาที่เคลื่อนไหวจะต้องเป็นไปตามกฎที่สร้างขึ้นเท่านั้น แต่ในสถานการณ์การเทรดจริง เหตุการณ์ในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้อย่างแม่นยำ เหตุการณ์ที่ไม่เป็นใจสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่แนวโน้มมีทิศทางขาขึ้นเราอาจจะลากเส้น Trend Line ที่สวยงามขึ้นมาได้หนึ่งเส้น การที่ราคาปรับตัวลดลงต่ำกว่าเส้น Trend Line ขาขึ้น เราจะตีความว่าเป็นเพียงสัญญาณอันตรายที่แนวโน้มทิศทางขาขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้“น่าจะหรือมีโอกาสสูงที่จะ”จบลง และน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทิศทางของราคาแล้ว แต่ไม่ได้การันตีว่าทิศทางแนวโน้มขาขึ้นจะต้องจบลงจริง ๆ ซึ่งถ้าเวลาผ่านไปแป๊บเดียวแล้วราคากลับหวนกลับขึ้นมายืนเหนือเส้น Trend Line ได้อีกครั้ง เราก็จะเรียกว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นว่าเป็น “สัญญาณหลอก” ซึ่งศัพท์คำนี้ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว
ไม่ใช่กฎแต่เป็นข้อแนะนำ
ดังนั้นการลากเส้น Trend Line จึงมีแต่ “ข้อแนะนำ หรือ วิธีในการลากเส้น Trend Line ที่ดี” ซึ่งคนที่ลากเส้น Trend Line ตามข้อแนะนำมีประโยชน์ คือ ช่วยทำให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มของราคาในแต่ละช่วงเวลา และนำไปต่อยอดสร้างกลยุทธ์ในการเทรดได้ คนที่ไม่ได้ลากเส้น Trend Line ตามข้อแนะนำเป๊ะ ๆ จึงไม่ได้ถือว่าทำผิดอะไร
สำหรับประโยชน์ของการเรียนรู้ “ข้อแนะนำที่ดีในการลากเส้น Trend Line” คือ เราจะมีหลักยึด มีแนวทางเบื้องต้นว่าควรเริ่มต้นลากเส้นอย่างไร และ Trend Line ที่ลากขึ้นมาได้น่าจะช่วยให้เรามีโอกาสตัดสินใจเทรดแล้วโอกาสเกิดผลผิดพลาดน้อย ดังนั้นผมจึงขอย้ำอีกครั้งว่าเราต้องไม่หลงทางและคาดหวังว่า Trend Line ที่ลากขึ้นมาจะช่วยให้ตัดสินใจเทรดได้ถูกต้องทุกครั้ง
“การลากเส้น TREND LINE ไม่มีกฎ (RULES) ตายตัว มีแต่ข้อแนะนำ (GUIDELINES) ในการลากเส้น TREND LINE ที่ทำตามแล้วน่าจะให้ไอเดียที่ดีในการเทรด”
ข้อแนะนำในการลากเส้น TREND LINE
มีข้อแนะนำทั่วไปในการลากเส้น Trend Line ที่หลังจากลากเส้น Trend Line ขึ้นมาแล้วน่าจะเป็นเส้นที่ให้ไอเดียในการเทรดที่ดี ได้แก่
1) ควรจะ… ลากเส้นเชื่อมจุดต่ำสุดสำหรับเส้น Trend Line ขาขึ้น และลากเส้นเชื่อมจุดสูงสุดสำหรับ Trend Line ขาลง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญในการลาก Trend Lind คือการระบุจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดให้ได้เสียก่อน
2) ลากเส้น Trend Line ที่เชื่อมได้แค่ 2 จุด อย่าเพิ่งดีใจ!!! เพราะ Trend Line ที่เชื่อมเพียง 2 จุดจะยังเอาไปใช้งานได้ไม่ดี เราจะให้เครดิตเป็นแค่เพียง “เส้นที่น่าจะเป็น Trend Line ในอนาคต (Tentative Trend Line)” แต่ถ้าลากเส้นเชื่อมได้ 3 จุดขึ้นไป ถึงจะเป็น”เส้น Trend Line ที่ควรให้ความสำคัญ (Valid Trend Line)” ซึ่งเอาไปใช้งานได้ดีกว่า
3) นิยมลากเส้นขนานเส้น Trend Line ควบคู่กันไปด้วย ถ้าทำได้ แต่ถ้าลากเส้นขนานเส้น Trend Line ไม่ได้ก็ไม่จำเป็น เพราะบางทีกราฟก็จะขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ในกรอบระหว่างเส้น Trend Line กับเส้นขนาน Trend Line ที่ลากได้ แต่บางทีก็ไม่อยู่ในกรอบ
4) “ถ้าเป็นไปได้” … พยายามอย่าให้เส้น Trend Line โดนตัด เช่น เส้น Trend Line ในช่วงแนวโน้มขาขึ้น พยายามลากเส้นให้ไม่มีช่วงไหนเลยที่ราคาจะต่ำกว่าเส้น Trend Line และเส้น Trend Line ในช่วงแนวโน้มขาลงก็เหมือนกัน พยายามให้ไม่มีช่วงเวลาไหนเลยที่ราคาจะสูงกว่าเส้น Trend Line
ข้อสังเกต : จะเห็นได้ว่าในบทความผมใช้คำว่า “อาจจะ” “ควรจะ” “ถ้าเป็นไปได้” จึงไม่ได้หมายความว่าต้องทำให้ได้ ดังนั้นถ้าลากเส้น Trend Line ตามคำแนะนำไม่ได้ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดนะครับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าลากเส้น Trend Line แล้วราคามีเบรก Trend Line บ้าง วับ ๆ แวม ๆ บางช่วง แต่สามารถลากสัมผัสได้หลายจุดมากกว่าก็จะเป็นเส้น Trend Line ที่มีความน่าสนใจมากกว่า
5) “ถ้าจะให้ดี” … จุดเริ่มต้นของ Trend Line ควรเป็นจุดสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม แต่ถ้าทำไม่ได้ ก็เหมือนเดิมครับ คือ ไม่เป็นไรไม่ต้องซีเรียส
การลากเส้น TREND LINE ในชีวิตจริง
ในชีวิตจริง การลากเส้น Trend Line ไม่ได้ง่ายเหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือหรือตัวอย่างตามเว็บไซต์ที่พยายามเอาตัวอย่างการลากเส้นที่สวยงามมาโชว์ให้เห็น พอเราไปอยู่หน้างานจริง อาจจะลากเส้น Trend Line ตาม Guideline ไม่ได้ บอกเลยครับว่า ไม่ต้องไปซีเรียส!!
บ่อยคร้้งที่ผมลากเส้น Trend Line ตาม Guidelines ไม่ได้ ก็ต้องทดลองลากเส้น Trend Line วิธีอื่นที่ดูแล้วเส้นออกมาสวยงามกว่า เช่น พยายามลากเส้น Trend Line ขาขึ้นเชื่อมจุดต่ำสุดตั้งแต่จุดแรกไม่ได้ แต่เริ่มลากจากจุดต่ำสุดจุดที่ 2 แล้วเส้น Trend Line สัมผัสได้หลายจุดกว่า ก็สามารถเลือกจุดเริ่มต้นในการลาก Trend Line เป็นจุดที่สองแทนได้ เป็นต้น
[4 ไอเดีย] ในการเทรดที่ได้จากการลากเส้น TREND LINE
การหาไอเดียในการเทรดด้วย Trend Line คือ การสังเกตว่า Trend Line ที่ลากขึ้นมาได้มีลักษณะหรือหน้าตาเป็นอย่างไร โดยผมจะให้ความสนใจลักษณะสำคัญที่เกิดขึ้นของ Trend Line ที่ลากขึ้นมาได้ 4 อย่าง ดังต่อไปนี้
[ข้อที่ 1.] ปัจจุบันทิศทางของแนวโน้มของราคาในตอนนี้มีทิศทางอะไร?
***ข้อแรกสำคัญที่สุด*** เมื่อลาก Trend Line เสร็จ ควรได้ข้อมูลว่า ปัจจุบันทิศทางของแนวโน้มของราคาในตอนนี้มีทิศทางอะไร? ระหว่าง 1.1) ขึ้น หรือ 1.2) ลง หรือ 1.3) ไม่ขึ้นไม่ลง (Sideways)
ทิศทางของเส้นTrend Line จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าควรจะทำอะไรไม่ควรทำอะไร เช่น ถ้าเส้นที่ลากขึ้นมาได้ เป็นเส้น Trend Line ที่มีทิศทางขาขึ้น และราคายังไม่เบรกต่ำกว่าเส้นนี้ลงมา ก็ยังให้ความมั่นใจว่า ควรจะเน้นอยู่ฝั่งซื้อ หรือถ้ามีของอยู่ในมือแล้วก็ยังมั่นใจได้ว่าราคาน่าจะยังไม่เปลี่ยนทิศทางของแนวโน้ม แต่ถ้าลากเส้นขึ้นมาได้เป็น Trend Line ที่มีทิศทางขาลง ก็ให้หลีกเลี่ยงการเข้าซื้อ เป็นต้น
การซื้อหรือขายตรงข้ามกับทิศทางของแนวโน้มราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะมีโอกาสขาดทุนมากกว่าโอกาสได้กำไร ดังนั้นจึงมักจะมีคำแนะให้ซื้อหรือขายตามทิศทางของแนวโน้มราคาในปัจจุบัน
[ข้อที่ 2.] ความชันของเส้นแนวโน้มมากหรือน้อย
ข้อมูลอย่างที่สองที่ควรพิจารณา คือ ความชันของเส้นแนวโน้มมากหรือน้อย ซึ่งจากความชันของเส้นแนวโน้มจะให้มุมมองเกี่ยวกับความร้อนแรงของราคา ความรีบร้อนกระตือรือร้นของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาด
ถ้าลากเส้น Trend Line แล้วความชันมาก ๆ เกิดจากการที่ราคาปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือราคาปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ราคาปรับตัวขึ้นหรือลงก็ตามอย่างรวดเร็วนั้น ควรเพิ่มความระวังในการเทรดช่วงเวลาดังกล่าว เพราะการที่ฝั่งซื้อหรือฝั่งขายเร่งรีบในการซื้อหรือขายหุ้นมากจนเกินไป สุดท้ายราคามันต้องมีหยุดพักกันบ้าง ดังนั้นควรติดตามราคาอย่างใกล้ชิด เพราะราคา”อาจจะ” เกิดการพักตัวในอนาคตได้ (เราไม่รู้ล่วงหน้าว่าราคาจะพักตัวเมื่อไหร่ แต่ให้ติดตามใกล้ชิด)
แต่ถ้าเส้น Trend Line แล้วมีความชันน้อย ๆ ก็ชวนให้สังสัยในทิศทาง เพราะเหมือนกับว่าฝั่งซื้อหรือฝั่งขาย แสดงความไม่แน่ใจออกมาว่าอยากจะทำให้ราคาไปในทิศทางนั้นจริงหรือไม่ หรือยังไม่มีความรีบร้อนไล่ราคามากนัก จึงทำให้ราคาปรับตัวขึ้นหรือลงช้า ๆ ซึ่งความเห็นส่วนตัวของผมลักษณะของกราฟราคาเหมือนกับช่วง Sideways มากกว่าช่วงมี Trend
ผมจะชอบเวลาที่ลากเส้น Trend Line แล้วได้ความชัน ประมาณ 45 องศา เนื่องจากเป็นเสัน Trend Line ในอุดมคติ ที่แสดงถึงคนในตลาดไม่รีบร้อนหรือเฉยชาจนเกินไป แนวโน้มของราคาที่เกิดขึ้นจึงมีโอกาสที่จะยั่งยืน หรือมีเสถียรภาพมากกว่า
[ข้อที่ 3.]ราคาอยู่ใกล้หรือไกลเส้น Trend Line ที่ลากขึ้นมาได้
3) ลำดับถัดไปคือ ราคาอยู่ใกล้หรือไกลเส้น Trend Line ที่ลากขึ้นมาได้ ถ้าทิศทางของแนวโน้มยังไม่เปลี่ยนทิศ เมื่อราคาหุ้นเคลื่อนที่เข้ามาใกล้เส้น Trend Line ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับตัว ไปในทิศทางของแนวโน้มเดิม เช่น เวลาราคาอยู่ในแนวโน้มทิศทางขาขึ้น แล้วมีการปรับตัวลดลงมาใกล้ ๆ เส้น Trend Line ตรงจุดนี้แหละครับ !!! ที่เป็นจังหวะที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าราคาเกิดเด้งที่จุดนี้ก็จะเป็นพฤติกรรมของราคาที่น่าสนใจลงมือซื้อตาม เป็นต้น
แต่ถ้าราคาหุ้นเริ่มออกห่างเส้น Trend Line มากเกินไป ก็ให้ระวัง ราคาอาจจะกลับตัวเข้าหาเส้น Trend Line ได้ ซึ่งควรให้ความสนใจและติดตามราคาอย่างใกล้ชิด
[ข้อที่ 4.] ราคาเบรกเส้นแนวโน้ม
4) ราคาเบรกเส้นแนวโน้ม แปลว่า แนวโน้มของราคาหุ้นในทิศทางนั้น อาจจะเปลี่ยนทิศทาง นิยมใช้เป็นสัญญาณให้ขายทำกำไรได้ แต่ไม่การันตีว่าทิศทางของแนวโน้มราคาหุ้นจะต้องเปลี่ยน 100% นะครับ
สาเหตุที่เวลาราคาหุ้นเบรกเส้น Trend Line แล้วเราใช้เป็นสัญญาณว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนทิศทาง เช่น ตลอดเวลาที่เราลากเส้น Trend Line ขาขึ้นได้ จะไม่มีช่วงไหนเลยที่ราคาต่ำกว่าเส้น Trend Line เส้นนี้ พอราคาเริ่มเบรกต่ำกกว่าเส้น Trend Line จึงเป็นสัญญาณที่บอกเราว่าน่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่เราจะรู้ว่าแนวโน้มราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงทิศทางจริงหรือไม่ ต้องรอให้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่งจึงจะรู้
บางทีก็ลากเส้น TREND LINE ตามข้อแนะนำไม่ได้เลย
เนื่องจากการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นเป็นแบบสุ่ม ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนเสมอไป ทำให้มีหลายครั้งเวลาที่วิเคราะห์กราฟหุ้น พยายามจะลากเส้น Trend Line ให้มันสวยงาม แต่ก็ลากไม่ได้สักที ใครเจอแบบนี้ ไม่ต้องซีเรียสครับ !!! ลากไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการลากเส้น Trend Line คือ ช่วยระบุทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว แค่ใช้ตามองกราฟ โดยไม่ต้องลากเส้น Trend Line ก็บอกได้ว่าว ทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้นเป็นทิศทางแบบไหน ระหว่าง ขาขึ้น ขาลง หรือ Sideways
สรุป
ใครที่เคยกังวลเกี่ยวกับการลากเส้น Trend Line เพราะกลัวว่าตัวเองจากลากเส้น Trend Line ไม่ถูกต้อง หลังจากนี้คงจะไม่ต้องกังวลแล้วนะครับ การลากเส้น Trend Line ไม่มีกฏ (Rules) ตายตัว มีแค่ข้อแนะนำ (Guidelines) ที่ลากเส้น Trend Line ที่น่าจะให้ไอเดียในการเทรดที่ดีเท่านั้นเอง และเนื่องจากราคาหุ้นเป็นการเคลื่อนที่แบบสุ่ม ไม่มีรูปแบบตายตัว ดังนั้นบางครั้งอาจจะพยายามลากเส้นแนวโน้มตามข้อแนะนำ แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำได้
เวลาที่ลากเส้น Trend Line เส้นหนึ่งขึ้นมาได้ ให้สังเกตุลักษณะ ต่าง ๆ ดังนี้ เพื่อใช้เป็นไอเดียในการเทรดหุ้น คือ…
- ทิศทางของเส้น Trend Line เป็นอย่างไร เอาไว้กำหนดว่าควรจะซื้อหุ้น หรือไม่ควรซื้อหุ้น
- ความชันของเส้น Trend Line เป็นอย่างไร เอาไว้ดูว่าราคาหุ้นขึ้นหรือลงเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป หรือกำลังดี
- ถ้าราคาหุ้นกลับเข้ามาใกล้เส้น Trend Line ก็มีโอกาสที่จะกลับตัวแล้วไปต่อในทิศทางของเส้น Trend Line แต่ถ้าราคาหุ้นอยู่ห่างเส้น Trend Line มาก ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้ามาหาเส้น Trend Line
- สุดท้ายถ้าราคาหุ้นเบรกเส้น Trend Line สามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนว่าอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือใช้ขายทำกำไร
หวังว่าบทความนี่จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจวิธีในการลากเส้น Trend Line มากขึ้นนะครับ หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมสามารถ Comment ถามที่ใต้บทความ ได้ครับ
ติดตามบทความ การเงิน สนุกๆกันต่อได้ที่ FinSpace – Finance
ติดตามบทความอื่น ๆ ของ Daddy Trader ได้ที่ Fanpage https://www.facebook.com/DaddyTrader/